ขออภัย

บทความใน Blog นี้ เป็นบทความที่รวบรวมมาจากสาขาวิทยบริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจากWebsiteต่างๆ เพื่อสะดวกในการศึกษาค้นคว้า(ต้องขออภัยที่ไม่ได้ขออนุญาตผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ในการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ)คำบรรยายของอาจารย์ทุกท่านอาจจะมีข้อหรือคำผิดพลาด อันเนื่องมาจากการพิมพ์และการตีความของผู้พิมพ์และผู้เรียบเรียงได้ ขอให้ผู้ศึกษาโปรดใช้วิจารณญาณ ขอขอบพระคุณเจ้าของผลงานทุกท่าน พร้อมอาจารย์ทุกท่านที่ได้มอบความรู้และคุณธรรมให้แก่ลูกศิษย์ด้วยความเมตตา



วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วิชา LA 794 กฎหมายลักษณะพยานเปรียบเทียบ 2

สรุปคำบรรยาย
วิชา LA 794 กฎหมายลักษณะพยานเปรียบเทียบ
บรรยายโดย ศาสตราจารย์ปัญญา สุทธิบดี
เรียบเรียงโดย ฝ่ายวิชาการ นิติศาสตร์มหาบัณฑิตรามคำแหงนครศรีฯ รุ่นที่ 4
ครั้งที่ 2 วันที่ 12-13 มิถุนายน 2553
เนื้อหาที่สอน
- การคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญา
- การปฏิรูประบบการสืบพยานในศาลไทย
ขอบเขตการบรรยายการคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญา
1. ความสำคัญของพยานบุคคล
- เกี่ยวกับพยานบุคคลโดยเฉพาะพยานบุคคลในคดีอาญานั้นมีความสำคัญอย่างไร พยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การสืบพยานในคดีอาญา พยานที่จะเอามาเสริมเอามาอ้างต้องเป็นพยานที่ชอบด้วยกฎหมาย
- พยานแบบใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีข้อยกเว้นอะไรบ้าง
- ปัญหาพยานบุคคลในชั้นสอบสวนในชั้นพิจารณาคดีของศาล
- ผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากปัญหาพยานบุคคลว่าปัญหาพยานบุคคลที่ว่านั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความยุติธรรมอย่างไร ผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร
- กฎหมายคุ้มครองพยานของประเทศไทยและต่างประเทศเฉพาะกฎหมายคุ้มครองพยานของอเมริกา
- การปฏิบัติต่อพยาน เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะแก้ปัญหาพยานบุคคล
2. การเสนอบันทึกคำเบิกความพยานบุคคลก่อนล่วงหน้า ปัจจุบันนี้ได้เอามาบัญญัติใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 120/1, 120/3 และการนำระบบการประชุมทางจอภาพมาใช้ในการพิจารณาคดีก็มีบัญญัติใน ป.วิ.แพ่ง ม.120/4, 121
3. การพิจารณาคดีต่อเนื่องและครบองค์คณะ
การคุ้มครองพยานบุคคลในคดีอาญา
พยานบุคคล
หมายถึงบุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวน พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวน พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีหรือศาล สรุปได้ว่า พยานบุคคลนั้นหมายถึงบุคคลซึ่งจะมาให้ถ้อยคำหรือบุคคลซึ่งได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานสืบสวน เจ้าพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและศาล
ส่วนมากจะมีการให้ความหมายของพยานบุคคลว่า หมายถึงบุคคลซึ่งไปเบิกความให้ข้อเท็จจริงในเรื่องที่ตนเองได้ประสบพบเห็นมาต่อศาล ซึ่งตรงนี้ผู้บรรยายคิดว่าเป็นการให้ความหมายของคำว่าพยานบุคคลที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งต้องให้คำว่าพยานบุคคลนั้นให้การในชั้นสอบสวนหรือให้การต่อพนักงานอัยการก็ต้องถือว่าเป็นพยานบุคคล
ความสำคัญของพยานบุคคล
พยานบุคคลนั้นไม่ว่าจะเป็นพยานในคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในคดีอาญา
ในคดีอาญาปัญหาว่าจำเลยหรือบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นเป็นคนร้ายหรือไม่ พยานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ส่วนมากแล้วพยานหลักฐานนั้นจะเป็นพยานบุคคลเกือบทั้งสิ้น พยานอื่นๆ เป็นเพียงพยานประกอบ อาจจะเป็นความผิดเกี่ยวกับเอกสารก็ต้องมีพยานบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ฉะนั้นพยานบุคคลจึงเป็นพยานที่สำคัญที่สุดในคดีอาญาเพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริง พยานบุคคลจึงเปรียบเสมือนลูกกุญแจให้ศาลหรือผู้พิพากษาไขประตูออกไปดูว่าความจริงที่เขาต้องการพิสูจน์คืออะไร ผิดหรือไม่ผิด จำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่
ส่วนมากแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะคิดเพียงแต่ว่าพยานบุคคลคือคนที่มีหน้าที่ที่จะต้องมาพิสูจน์หรือมาเบิกความ มาให้การในชั้นสอบสวนหรือในชั้นศาลในเรื่องที่ตนเองประสบพบเห็นมาและยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ อาจจะกล่าวว่าพยานคือคนที่จะเข้ามาชี้ถูกชี้ผิดว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่เท่านั้น แต่ไม่เคยมีการคิดว่าความจริงแล้วพยานบุคคลนั้นมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมมากเพียงใด พยานบุคคลเป็นผู้ที่มีพระคุณต่อกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่มีพยานบุคคลกระบวนการยุติธรรมจะล้มเหลวไม่ต้องจ้างผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ไม่ต้องมีทนายความเพราะกระบวนการยุติธรรมจะล้มเหลวหากไม่มีพยานบุคคล
แต่อย่างไรก็ตามพยานบุคคลนั้นอาจเป็นพยานบุคคลที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุดก็ได้เพราะการแปรเปลี่ยนของพยานบุคคลนั้นง่าย ถ้าพยานบุคคลเป็นพยานที่เบิกความตามความจริงตามที่ตนเองได้พบเห็นมาความยุติธรรมก็บังเกิดขึ้น ตั้งแต่ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดีของศาลถ้าพยานบุคคลเบิกความตรงไปตรงมา ให้การตรงไปตรงมาความยุติธรรมก็เกิดขึ้น แต่ถ้าพยานบุคคลแปรเปลี่ยนไปเบิกความไม่จริง ปกปิดข้อเท็จจริง กลับคำให้การ ให้การเท็จหรือไม่ยอมมาเป็นพยาน ความยุติธรรมก็ล้มเหลว
การแปรเปลี่ยนของพยานบุคคลนั้นอาจสรุปได้ว่ามีสาเหตุอยู่ 3 ประการ
1. อุปนิสัยและทัศนคติในการไปเป็นพยานของบุคคล
2. พยานถูกอิทธิพลบังคับ
3. ความไม่เชื่อมั่น ไม่ศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม
ประการแรกเป็นเรื่องทั่วไป แต่ดั้งเดิมบุคคลที่ได้รับหมายเรียกให้ไปเป็นพยานจะมีแต่ความทุกข์ เสมือนหนึ่งความเดือดร้อนมาถึง มาถึงครอบครัว คนโบราณบอกว่าอย่าไปหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว คนโบราณไม่ได้สั่งสอนว่าการเป็นพยานบุคคลเป็นสิ่งที่ดี และนี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งคนไม่อยากไปเป็นพยาน
ประการที่สองเป็นสาเหตุใหญ่กว่าสาเหตุประการแรก คดีสำคัญในสมัยนี้ถ้าหากไปเป็นพยานก็จะมีความเดือดร้อนถึงแก่ชีวิต อิทธิพลลูกไม่เท่าไรอิทธิพลพ่อมากกว่า อิทธิพลผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่เท่าไรอิทธิพลของพ่อผู้ต้องหามีมากกว่า จึงไม่มีใครกล้าไปเป็นพยาน และหากไม่ไปเป็นพยานก็จะมีแต่ได้เงินเพราะมีการว่าจ้าง วิ่งเต้นให้ล้มคดี
ประการที่สามเป็นสาเหตุเบื้องหลังลึกๆ ใหญ่ๆ คือความไม่ศรัทธา ไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม เกิดเหตุขึ้นมาแล้วจับผู้ร้ายไม่ได้ ชาวบ้านรู้แต่เมื่อจับได้อัยการสั่งไม่ฟ้องว่า ฟ้องไปศาลยกฟ้องบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เมื่อไม่มีความเชื่อมันก็ไม่มีใครอยากจะมาเป็นพยาน
ทั้งสามสาเหตุจึงเป็นปัญหาใหญ่ของพยานบุคคล ซึ่งไม่เหมือนกับพยานเอกสารที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าพยานบุคคล ความคงทนมีมากกว่า แต่ทั้งนี้พยานเอกสารก็มีข้อเสียอยู่ 2 ประการ
1. ไม่ทันสมัย ไม่ทันเหตุการณ์ ถ้าเป็นพยานเอกสารที่เกิดขึ้นมานานแล้วเจตนาของคนที่ทำเอกสารก็อาจจะแปรเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งไม่อาจจะยืนยันเจตนาที่แท้จริงในปัจจุบันได้ เทคโนโลยีในการปลอมแปลงเอกสารนั้นมีสูงมากจับผิดได้ยาก
2. การแก้ปัญหาเกี่ยวกับพยานบุคคลดังกล่าวว่าเมื่อมีคดีเกิดขึ้นแล้วมีคนที่รู้เห็นเหตุการณ์ยินดีมาเป็นพยานแล้วทำให้ปัญหาเกี่ยวกับพยานบุคคลนั้นหมดไป เรื่องความยุติธรรมก็จะบังเกิดขึ้น
บุคคลที่เป็นพยาน
1. ในทางอาญาบัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 226 พยานเอกสาร พยานบุคคลหรือพยานวัตถุที่จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยผิดหรือบริสุทธิ์อ้างเป็นพยานได้แต่บุคคลที่จะมาเป็นพยานนั้นต้องใช้ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 คือต้องเป็นบุคคลที่สามารถเข้าใจ ตอบคำถามได้ และเป็นผู้ได้เห็น ได้ยินข้อความเรื่องที่จะให้การเป็นพยานโดยตรงหรือเรียกว่า “ประจักษ์พยาน”
ในปัจจุบันนี้ได้มีการแก้ไขเมื่อปี 2550 เพิ่มเติม ป.วิ.แพ่ง ม.95/1 ไปวางหลักเกณฑ์เรื่องพยานบอกเล่าว่า พยานบอกเล่า พยานที่ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ตามมาตรา 95 แต่ถ้าเป็นพยานที่รับการบอกเล่ามา ถ้าเป็นพยานที่มีความสำคัญในคดีสามารถที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็เอามาเป็นพยานได้ เป็นการสร้างข้อยกเว้นเรื่องพยานบอกเล่าขึ้นมา ซึ่งเอาแนวของคำพิพากษาศาลบางเรื่องเอามาใส่เพราะศาลฎีกาเริ่มวางหลักตามกฎหมายคอมมอลลอว์ คือเรื่องพยาน คำบอกกล่าวของพยานที่ได้รับคำบอกกล่าวของผู้ที่ถูกทำร้ายและใกล้ถึงแก่ความตายเหล่านี้ก็จะเอามายึดโยงไว้ในเรื่องพยานบอกเล่า
ป.วิ.แพ่ง ม.96 คนหูหนวก คนเป็นใบ้ ซึ่งกฎหมายลักษณะพยานโบราณไม่ให้เป็นพยาน แต่กฎหมายปัจจุบันนี้ถ้าสามารถสื่อสารให้ข้อเท็จจริงได้ก็สามารถรับฟังเป็นพยานได้ ถือเป็นพยานบุคคลเช่นเดียวกัน
สำหรับในคดีอาญานั้น แม่บทใหญ่ของคดีอาญาที่บัญญัติเหมือนกันในประเทศใหญ่เกือบทั่วโลกนั้นบัญญัติเหมือนกันว่า พยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ว่าจำเลยผิดหรือบริสุทธิ์ให้อ้างเป็นพยานได้ แต่ต้องเป็นพยานที่ชอบด้วยกฎหมาย คำว่าพยานที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นของไทยใช้ถ้อยคำว่าต้องเป็นพยานที่มิได้เกิดจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญาขู่เข็ญหลอกลวงหรือมิชอบด้วยกฎหมายด้วยประการอื่น ม.226 วางหลักไว้
ปัจจุบันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าในปี 2551 ได้แก้ไข ป.วิ.อาญา ฉบับที่ 28 ซึ่งสิ่งที่นำมาแก้ที่มีความสำคัญมากคือ มาตรา 226/1 ซึ่งเป็นการสร้างกฎเกณฑ์การให้รับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยให้นำเอาพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมารับฟังเป็นพยานในคดีอาญาได้
เหตุที่ไม่ให้รับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งๆ ที่เป็นพยานที่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความผิดแต่ถ้าเป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ให้ฟัง แต่ต่อมาเพราะเหตุใดประเทศไทยจึงสร้างหลักเกณฑ์มาตรา 226/1 ขึ้นมาให้รับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามมุมมองความคิดเห็นของผู้บรรยายเองนั้นไม่ได้ต้องการที่จะสอนว่ามีหลักเกณฑ์อะไรอย่างไร แต่ต้องการชี้ให้มองเห็นว่า เขาสร้างหลักเกณฑ์การให้รับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่เป็นการเอาพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายแต่วิธีการได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ซึ่งอยากให้ผู้ศึกษาเริ่มคิดวิเคราะห์ว่าการสร้างหลักเกณฑ์เหล่านี้เป็นการทำลายหลักเกณฑ์การไม่รับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ม.226/3 เป็นเรื่องของการสร้างหลักเกณฑ์การให้รับฟังพยานบอกเล่าในคดีอาญา หลักเกณฑ์คือพยานบอกเล่าเป็นพยานที่ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ แต่เป็นเรื่องที่ได้รับการได้ยินและคำบอกเล่ามาแล้วเอามาบอกว่าได้ยินมาอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งบางครั้งศาลก็ไปยึดหลักของของคอมมอลลอว์ว่าบางทีก็มาฟังเป็นพยานหลักฐานได้แต่ว่าต้องว่าเอามาประกอบกับพยานหลักฐานอื่น จึงมีการบัญญัติเรื่องการให้รับฟังพยานบอกเล่าโดยมีข้อยกเว้นขึ้นมาโดยมีกฎเกณฑ์และต้องเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงจะเอามารับฟังพยานบอกเล่าได้
ในสมัยโบราณกฎหมายลักษณะพยาน พ.ศ.1894 สมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการแบ่งพยานบุคคลออกเป็น 3 ประเภท
1. ทิพพยาน
2. อุดรพยาน
3. อุตริพยาน
ทิพพยาน เป็นผู้ทรงศีล สมณะชีพราหมห์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต นักพรตผู้มีบรรดาศักดิ์ คำว่า “ทิพพยาน” ถือว่าเป็นพยานที่มีน้ำหนักมาก เป็นพยานชั้นหนึ่ง สมัยโบราณบอกว่าทิพพยานนั้นตัดอุดรพยาน อุดรพยานตัดอุตริพยาน
ตามประวัติศาสตร์กฎหมายทิพพยานไม่ได้หมายถึงนักปราชญ์ นักพรต ราชบัณฑิตอย่างเดียวแต่จะมีการมองดูว่าระหว่างคนที่เป็นความกันนั้น แล้วบุคคลซึ่งอยู่ในฐานะที่เป็นพยานที่ดีต้องเป็นทิพพยาน อย่างเช่น พระภิกษุสามเณรในวัดถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เจ้าอาวาสมาเป็นพยาน เจ้าอาวาสมีฐานะเป็นทิพพยานเพราะถือว่าเจ้าอาวาสต้องไม่เข้าข้าง พ่อแม่ทะเลาะกันลูกเป็นทิพพยานได้เพราะถือว่าลูกรักพ่อรักแม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นลูกต้องพูดความจริง ลูกทะเลาะกันพ่อแม่ก็เป็นทิพพยาน
อุดรพยาน เป็นผู้มีความประพฤติดี ความประพฤติชอบ พ่อค้าวานิช คนทำไร่ทำสวนก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลของคำเบิกความ แต่พยานเหล่านี้ถ้าเทียบกับทิพพยานแล้วมีน้ำหนักสู้ไม่ได้
อุตริพยาน เป็นบุคคลที่ไม่ควรรับฟังเป็นพยาน 33 ประเภท ซึ่งเดิมไม่ให้รับฟังเป็นพยานเลยแต่ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้เอาอุตริพยานมาเป็นพยานก็เอามาเป็นพยานได้ แต่มีพยานอุตริพยานประเภทหนึ่งที่ถึงจะตกลงกันอย่างไรก็ไม่ให้เอามาเป็นพยาน บอกว่า “แต่มีข้อยกเว้นอีกว่าหญิงสองคนขึ้นไปที่มีผัวคนเดียวกันวิวาทกันแล้วจะอ้างผัวเป็นพยานร่วมมิได้ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขออนุญาตอีกฝ่ายหนึ่งนำเข้าสืบก็ไม่ได้” เพราะหากนำสามีมาเป็นพยานแน่นอนว่าจะต้องมีการเบิกความเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
บุคคลที่จะมาเป็นพยานได้นั้น สรุปได้ว่าปัจจุบันนี้จะเป็นใครก็ได้ถ้าเป็นบุคคลซึ่งสามารถเข้าใจ ตอบคำถามได้ และเป็นผู้ที่ได้เห็นได้ยินหรือทราบเรื่องราวที่จะให้การด้วยตนเองแม้จะเป็นพยานบอกเล่าซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยผิดหรือบริสุทธิ์ก็สามารถที่จะอ้างเป็นพยานในศาลได้ เว้นแต่จะเป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ ต้องเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
1. ขั้นตอนการจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องกระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือไม่มีคำสั่งศาลไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่เป็นข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อาญา ม.78 เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า เป็นพฤติการณ์สงสัยว่าจะก่อเหตุร้ายโดยมีอาวุธ เป็นการจับผู้ต้องหาที่หลบหนีหมายก่อนชั่วคราว จับโดยไม่มีหมายจับ ค้นโดยไม่มีหมายค้นก็เป็นการจับการค้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผลของการจับการค้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้ได้พยานหลักฐานมาก็ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
2. วิธีปฏิบัติในการจับกุมผู้ต้องหาก็ต้องชอบด้วยกฎหมาย ปัจจุบันนี้บัญญัติอยู่ใน ป.วิ.อาญา ม.83, 84 ซึ่งจะต้องปฏิบัติ 4 ประการ
1.) ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ
2.) ต้องแจ้งด้วยว่าผู้ต้องหามีสิทธิ์ที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ หากให้ถ้อยคำ ถ้อยคำของผู้ถูกจับกุมอาจจะใช้ยันเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ (หลักเกณฑ์ในชั้นจับกุมที่จะต้องกระทำ) ถ้าเป็นการให้ถ้อยคำในชั้นจับกุมว่าตนเองเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นการยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ร้าย เป็นผู้กระทำความผิด ก็จะมีบัญญัติไว้เป็นพิเศษใน ม.84 วรรคท้ายว่าจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้
3.) ผู้ถูกจับมีสิทธิ์ที่จะพบและปรึกษาทนายความหรือผู้ที่จะเป็นทนายความ เดิมอยู่ใน รธน.ปี 40 ม.241 วรรคสอง ผู้ถูกจับกุมมีสิทธิ์ที่จะพบและปรึกษาทนายความหรือผู้ที่จะเป็นทนายความ
4.) ต้องบันทึกการจับกุมไว้เป็นหลักฐาน
หลักปฏิบัติในการจับกุม 4 ประการนี้เป็นเรื่องใหม่ที่กฎหมายบัญญัติขึ้นมาให้ครบถ้วนเป็นหลักสากล เป็นเรื่องเสริมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและต้องการให้เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งเลียนแบบมาจากเรื่องของฝรั่งในเรื่องของหลัก MIRANDA RULE หรือ MIRANDA WARNING (ค.ศ.1966) ซึ่งหลักนี้เป็นเรื่องของศาลสูงสหรัฐอเมริกาได้วางหลักเกณฑ์ไว้ในคำพิพากษาตัดสินเมื่อปี 1966 เดิมไม่มีหลัก 4 ประการดังกล่าว เจ้าพนักงานของสหรัฐอเมริกาก็กระทำการจับกุมโดยที่ไม่มีหลักเกณฑ์ เช่นอาจจะเอาปืนไปจ่อหัวผู้ต้องหาให้รับสารภาพ ค้นโดยไม่มีหมายค้น จับโดยไม่มีหมายจับ แต่เมื่อวางหลักแล้วก็ต้องมีการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลัก MIRANDA RULE หรือ MIRANDA WARNING นี้สืบเนื่องมาจากการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญของอเมริกาครั้งที่ 4 ซึ่งต้องการที่จะวางหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิในตัวบุคคลว่าไม่ให้มีใครมาล่วงละเมิด คุ้มครองสิทธิในเคหสถาน คุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินโดยบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าเจ้าพนักงานจะต้องเคารพสิทธิเหล่านี้ของประชาชน ซึ่งรวมถึงสิทธิในการจับกุม สิทธิในการตรวจค้นด้วย ฉะนั้นการจับของเจ้าพนักงานของสหรัฐอเมริกาในการจับกุมผู้ต้องหาเจ้าพนักงานจะต้องเตือนหรือแจ้งสิทธิ์แก่ผู้ถูกจับกุม 4 ประการ คือ
4.1 ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การ
4.2 ถ้าหากให้การ คำให้การนั้นสามารถใช้ยันเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
4.3 มีสิทธิพบและปรึกษาทนายความทั้งมีสิทธิขอให้ทนายความอยู่ร่วมในการสอบปากคำ
4.4 หากผู้ถูกจับกุมไม่มีทนายความ ผู้ถูกจับกุมมีสิทธิขอให้รัฐจัดหาทนายความให้
การไม่ปฏิบัติตามหลัก MIRANDA RULE หรือ MIRANDA WARNING จะเข้าหลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษ (fruit of poisonous tree) ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่าเสียไปเลย ถ้าไม่ปฏิบัติขั้นตอนการจับกุมไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องไปถึงขั้นพิจารณาคดีเขาก็จะยกฟ้องทันที ต้นไม้เป็นพิษ ดอกผลก็เป็นพิษ อีกต้นตายกินใบก็ตายกินผลก็ตาย แต่ของไทยต้นไม้เป็นพิษถ้าเรารู้จักเอามาปรุงแต่งผลไม้อาจจะหอมหวานรับประทานได้
ข้อสังเกต
1. ในชั้นจับกุมเจ้าพนักงานผู้จับจะต้องบันทึกการแจ้งสิทธิ์แก่ผู้ถูกจับกุมไว้ในบันทึกการจับกุมหรือไม่ คือ ตำรวจไปจับผู้ต้องหาแล้วแจ้งสิทธิ์ทุกประการไว้แล้ว มีสิทธิ์ที่จะให้การหรือไม่ให้การ มีสิทธิ์ที่จะพบทนาย แต่ไม่ได้บันทึกสิทธิ์เหล่านี้ไว้ในบันทึกการจับกุม การจับกุมนั้นเสียไปหรือไม่
ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่มีปัญหาเท่าไรเพราะในบันทึกการจับกุมจะบันทึกว่าได้แจ้งสิทธิ์ไว้แล้ว แต่สมัยก่อนไม่ได้เขียนไว้
คำพิพากษาศาลฎีกา 928/2547 เจ้าพนักงานผู้จับกุมแจ้งสิทธิ์ทุกอย่างให้ผู้ต้องหาทราบแล้วแต่หลงลืมมิได้บันทึกข้อความในเรื่องการแจ้งสิทธิ์ไว้ในบันทึกการจับกุม ไม่ทำให้บันทึกการจับกุมนั้นเสียไป สิ่งนี้เป็นเรื่องที่มีการตัดสินไว้ว่าแจ้งแล้วแต่ไม่ได้บันทึกก็ไม่ทำให้บันทึกนั้นเสีย ให้สังเกตว่าคำพิพากษาฎีกานี้ตัดสินเมื่อปี 2547 ก่อนการแก้ไขเรื่องการแจ้งสิทธิ์ในปี 2548 ปัญหานี้ถ้าตำรวจจับกุมโดยใช้แบบฟอร์มบันทึกการจับกุมที่ทำขึ้นมาก็จะไม่มีปัญหาเพราะจะมีบันทึกการแจ้งสิทธิ์ไว้ทั้งหมดแล้ว
2. คำรับสารภาพของผู้ถูกจับกุมในชั้นจับกุมว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ตามบทบัญญัติ ป.วิ.อาญา ม.84 วรรคท้าย ขอให้สังเกตว่าบันทึกการจับกุมนั้นคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นจับกุม กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นการให้การรับสารภาพทั้งสอบสวนจะไม่ต้อห้าม
บทบัญญัติ ม.84 วรรคท้าย เป็นการสร้างบทตัดพยานขึ้นมาอย่างเด็ดขาดโดยไม่มีข้อยกเว้น คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของผู้ถูกจับกุมว่าเป็นผู้กระทำความผิดจะเอามารับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้
เหตุที่สร้างบทตัดพยาน เพราะคำรับสารภาพของผู้ต้องหาชั้นจับกุมว่าตนเองกระทำความผิดมีทั้งเป็นพยานหลักฐานที่ชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าเป็นพยานที่เกิดจากการบังคับขู่เข็ญ หลอกลวงทรมานก็จะเป็นคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าเป็นเรื่องที่รับสารภาพโดยความสมัครใจไม่มีใครบังคับก็จะเป็นพยานที่ชอบด้วยกฎหมาย และคำรับสารภาพของผู้ถูกจับกุมที่รับสารภาพในทันทีทันใดหลังจากที่ถูกจับกุมก็มักจะเป็นเรื่องจริง คำรับสารภาพโดยความสมัครใจเพราะขณะนั้นเขายังไม่มีเวลาที่จะคิดหรือปกปิดข้อเท็จจริงเขาจึงรับสารภาพจริง แล้วเมื่อตั้งหลักได้จึงมาปฏิเสธ มักจะเป็นเรื่องที่ศาลนำมาเขียนคำพิพากษาเพื่อประกอบดุลพินิจว่าน่าเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดจริงเพราะเขารับสารภาพในทันทีทันใดที่จับกุม ซึ่งผู้พิพากษาสมัยก่อนใช้มาก แต่ในปัจจุบันนำมาใช้ไม่ได้เพราะจะเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในทันที
สาเหตุที่บัญญัติกฎหมายลักษณะนี้เป็นเพราะว่าเขาไม่เชื่อใจตำรวจไทยเลย เขาไม่เคยคิดว่าตำรวจไทยจะมีตำรวจดีๆ ซึ่งความจริงแล้วตำรวจที่ไม่ดีก็มีบ้างเล็กน้อย แต่เอาข้อยกเว้นมาสร้างเป็นหลักกฎหมายไม่ไว้วางใจเพื่อป้องกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นการทำลายพยานหลักฐานอย่างดีชิ้นหนึ่ง ซึ่งต้องพิสูจน์เอาดูว่าตำรวจทำจริงหรือไม่ จับกุมแล้วตำรวจไปข่มเหง ข่มขู่ทรมานใช้กำลังบังคับผู้ต้องหาหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบก็ถือว่าเป็นพยานที่ไม่ชอบรับฟังไม่ได้ แล้วทำไมจึงไปทำให้พยานที่เกิดขึ้นโดยชอบเสียไปด้วย ผู้บรรยายมีความเห็นว่า ม.84 วรรคท้ายนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทำไมเราจะต้องไปสร้างหลักเกณฑ์การตัดพยานโดยเอาพยานที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ให้รับฟัง นักกฎหมายทั่วโลกก็จะมองว่าตำรวจไทยเลวหมดทุกคน การมีบทบัญญัตินี้แสดงว่าตำรวจไทยเลวหมด เหล่านี้เองที่ทำให้พยานหลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งต้องเสียหายไปโดยสร้างหลักตัดพยานซึ่งเด็ดขาดไม่ให้รับฟัง แล้วเป็นหลักการตัดพยานที่มีเฉพาะประเทศไทยและเป็นการสร้างหลักกฎหมายที่เป็นอัปยศของตำรวจ ในชั้นจับกุมตำรวจก็แจ้งสิทธิ์แล้วว่ามีสิทธิ์ให้การหรือจะไม่ให้การก็ได้ ถ้าให้การถ้อยคำนั้นจะใช้ยันเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ฉะนั้น ม.84 วรรคท้าย ผู้บรรยายมีความเห็นว่าเขาบัญญัติขึ้นมาได้อย่างไร สร้างบนความคิดว่าตำรวจเลวทุกคน ทำไมไม่พิสูจน์ว่าตำรวจเลวก็ตัดพยานหลักฐานนั้นไป แล้วที่ตำรวจดีๆ ทำไว้ก็จะเสียหมดเลย
3. ผลของการค้นและการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ถ้าเป็นหลักของกฎหมายคอมมอลลอว์ หลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษ (fruit of poisonous tree) อังกฤษ อเมริกาจะใช้เคร่งครัด ค้นไม่ชอบ จับไม่ชอบจะทำให้เสียไปหมดไม่ต้องไปพิจารณาอย่างอื่น คดีนั้นเลิกหมดเลยใช้หลัก fruit of poisonous tree ในยุโรปหลายประเทศก็ใช้คล้ายๆ กับอังกฤษกับอเมริกาแต่บางทีไม่เคร่งครัดเท่า การค้นไม่ชอบ จับไม่ชอบ การได้พยานหลักฐานมาโดยไม่ชอบบางครั้งทางยุโรปอย่างเยอรมันจะต่างกับของอเมริกันเล็กน้อย ของอเมริกันหากทำอะไรไม่ชอบมาก็จะเสียหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพนักงานหรือเอกชนที่ได้พยานหลักฐานมาโดยวิธีการที่ไม่ชอบอย่างนี้จะเสียหมด
ของเยอรมันบางครั้งจะดูว่าหลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษนี้ถ้าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่โดยตรงแล้วมากระทำการไม่ชอบเขาจะใช้หลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษอย่างเคร่งครัด แต่ถ้าเป็นเรื่องของเอกชนจะดูความรุนแรงของการกระทำ อย่างเช่น เอกชนรู้ว่าบ้านโจทก์มีพยานหลักฐานเท็จเขาต้องการที่จะเอาพยานหลักฐานเท็จออกมาเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องเท็จ เขาก็ลอบปีนบ้านเข้าไปแล้วงัดหน้าต่างเข้าไปลักเอาพยานหลักฐานนี้มาโดยที่ไม่ได้ทำร้ายเจ้าทรัพย์ ไม่ทำอะไรเลย อย่างนี้กฎหมายเยอรมันตามคำพิพากษาเยอรมันเขาจะไม่เอาหลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษมาใช้ แต่ถ้าเป็นเจ้าพนักงานเข้าไปบ้านเขาในลักษณะนี้ก็จะถือว่าเข้าหลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษ แต่ถ้าการที่เอกชนแล้วเข้าไปในบ้านและใช้มีดใช้ปืนขู่บังคับให้บอกที่ซ่อนเอกสารชิ้นนี้โดยมีการทำร้ายด้วย อย่างนี้จะเข้าหลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษเพราะเป็นเรื่องที่ต้องดูอีกตอนหนึ่งว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงหรือไม่
ประเทศไทยไม่ใช้หลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษ (fruit of poisonous tree) ประเทศไทยจะตัดสินแนวคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินบอกว่า การจับกุมกับการสอบสวนเป็นการกระทำคนละขั้นตอนกัน การจับผู้ร้ายเป็นวิธีการที่จะได้ตัวผู้กระทำความผิด ส่วนการสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้จะจับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมายก็หาทำให้การสอบสวนไม่ชอบไม่ คือถ้าหากว่าสอบสวนกระทำการโดยชอบ จับไม่ชอบ ค้นไม่ชอบ พนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้อง สรุปว่า พยานหลักฐานที่เกิดจากการจับไม่ชอบ ค้นไม่ชอบ ถ้าพนักงานสอบสวนเอามารวบรวมโดยชอบก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ คำพิพากษาศาลไทยตัดสินแบบนี้ ซึ่งมีการตัดสินไว้หลายฎีกา เช่น 1362/2537, 3099/2543, 2775/2544
ผลจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกานี้เองเราน่าจะเอาไปออกกฎหมายขยายความมาตรา 226 จับไม่ชอบ ค้นไม่ชอบ สอบสวนชอบ พยานหลักฐานนั้นใช้ได้ ก็เป็นมาตรา 226/1 พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายแต่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีโดยวิเคราะห์ถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ แล้วก็อาจจะนำมาเป็นพยานหลักฐานได้ มาสร้างเป็นข้อยกเว้นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่ศาลไทยตัดสินลักษณะนี้ เห็นว่าควรจะเดินตามกฎหมายใด ถ้าคิดง่ายๆ ก็เอาหลักตามกฎหมายคอมมอลลอว์หลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษ (fruit of poisonous tree) แต่ต้องคิดว่าสังคมไทยนั้นพร้อมที่จะเดินตามหลักของกฎหมายคอมมอลลอว์หรือไม่ เจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้น้อย ชั้นประทวนมีความรู้ความสามารถในทางกฎหมายที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายดีหรือยัง
ม.226 บัญญัติเกี่ยวกับวัตถุพยาน พยานเอกสารหรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ว่าจำเลยผิดหรือบริสุทธิ์ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้เว้นแต่จะเป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสรุปว่า ถ้าเป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ถือว่าเป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หลักพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของไทย
1. พยานที่เกิดจากการถูกขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ ให้คำมั่นสัญญา ถือว่าเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตรงกับหลัก Exclusionary Ruleของคอมมอลลอว์ ซึ่งเป็นหลักที่ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาได้วางหลักไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกา 2 เรื่อง ในปี 1914 กับปี 1961 แต่เดิมในกฎหมายคอมมอลลอว์จะดูแต่น้ำหนักพยานว่าพยานนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยผิดหรือไม่ อ้างมาเป็นพยานหลักฐานได้ทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงที่มา ที่มาของพยานจะมาอย่างไร ได้มาอย่างไรไม่สนใจ แต่ถ้าเป็นพยานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยทำผิดสามารถนำมาอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ทั้งหมด แต่ต่อมาตามที่มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญครั้งที่ 4 ที่มีความประสงค์ที่จะคุ้มครองประชาชนให้พ้นจากการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องสิทธิในส่วนบุคคล สิทธิในเคหสถาน สิทธิในทรัพย์สินโดยรัฐธรรมนูญของอเมริกาจะยึดถือเรื่องเสรีประชาธิปไตย หลักมนุษย์ซึ่งเสรีประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชนของปวงชนเป็นใหญ่ ดังนั้นเขาจึงสร้างหลักกฎหมายขึ้นมาคุ้มครองประชาชนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากการที่วางหลักกฎหมายว่าไม่ให้กระทำอะไรที่กระทบกระทั่งต่อสิทธิในส่วนบุคคลนี้เองก็มีการสร้างหลัก MIRANDA RULE โดยในชั้นจับกุมห้ามจับโดยไม่มีหมายจับ อย่าไปกระทำให้ประชาชนเดือดร้อน
เหตุที่มีการวางหลักกฎหมายแบบนี้เป็นจำนวน 2 ฎีกา เพราะศาลของสหรัฐอเมริกาศาลชั้นต้นของจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ศาลมลรัฐและศาลสหพันธรัฐคดีแรกเป็นเอกชนกับศาลสหพันธรัฐ ส่วนคดีหลังเป็นเอกชนกับศาลมลรัฐ
คดีแรกตำรวจไปค้น ไปจับโดยไม่มีหมายค้นในบ้านของนายวีก ศาลจึงบอกว่าในเมื่อไปค้นหาสิ่งผิดกฎหมายในบ้านก็เป็นพยานได้ แต่นายวีกบอกว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในการคุ้มครองเคหสถานของตน เป็นการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาจึงได้วางหลักในคดีแรกว่า ทำอย่างนี้ไม่ชอบ ให้นายวีกเป็นฝ่ายชนะคดีว่าเป็นการค้นไม่ชอบโดยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายพยานหลักฐานใช้ไม่ได้
คดีหลังจากปี 1914 คดีที่เกิดขึ้นของศาล Federal Court จะยึดแนวเดียวกันหมด แต่ศาลมลรัฐไม่เอาตาม คดีของศาลมลรัฐก็ยังตัดสินเหมือนเดิมคือ ถ้ามีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ว่าจำเลยผิดเอามาอ้างได้โดยไม่ได้ดูว่าพยานหลักฐานนั้นมาอย่างไรจนกระทั่งมีการมาฟ้องร้องกันระหว่างนายแมทซ์ กับมลรัฐโอไอโอ ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาจึงได้วางหลักเดียวกันว่าการค้นบ้านการจับโดยไม่มีหมายค้นหมายจับเป็นการค้นการจับที่ไม่ชอบในปี 1961 จึงสร้างหลักทั้งสองศาลนี้ขึ้นมารวมกันเป็นหลักการตัดพยาน ถ้าเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาจากการค้นไม่ชอบ จับไม่ชอบ จะถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ใช้ไม่ได้ เป็นหลักการตัดพยาน เป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ถามว่า ทำไมในเมื่อพยานหลักฐานสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำผิด เป็นพยานหลักฐานที่ดีมากเพราะยาเสพติดก็อยู่ในบ้าน ถึงแม้ว่าจะมีหมายค้นหรือไม่มีหมายค้นก็พบยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายก็ต้องพิสูจน์ว่าคุณครอบครองยาเสพติดทำไมจึงเอามาฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ทั้งๆ ที่พิสูจน์ได้แน่ๆ ว่าจำเลยกระทำผิดจริงๆ แต่เอามาเข้าหลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษ กลายเป็นพยานไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วัตถุประสงค์ของการที่ไม่ให้เอาพยานที่ดีสามารถที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยผิดได้ แต่วิธีการที่ได้มาลักษณะนี้ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ เป็นเรื่องที่แม้จะเป็นเรื่องที่เสียดายพยานที่ต้องตัดใจไม่ให้เอามาฟัง เพราะวัตถุประสงค์คือต้องการที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ต้องการจะเชิดชูสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฉะนั้นเขาจึงต้องยับยั้ง (deterrent) ไม่ให้เจ้าพนักงานกระทำการที่ไม่ชอบนั้นอีก ยับยั้งไม่ให้เจ้าพนักงานแสวงหาพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อที่จะเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้คำพิพากษาของศาลสูงสหรัฐอเมริกายังเขียนสั่งสอนเจ้าพนักงานตำรวจ ว่าการที่เขาไม่ให้เอาพยานเหล่านี้มาฟังเป็นการช่วยเหลือตำรวจให้ตำรวจนอกจากจะยับยั้งไม่ทำอย่างนั้นเพราะเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือให้ตำรวจจะต้องไปขวนขวายแสวงหาความรู้และพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายมา เพราะถ้าหากว่าไปยอมรับพยานหลักฐานเช่นว่านั้นตำรวจก็จะไม่ไปหาความรู้ใหม่
ศาลไทยก็คงจะแนวเดียวกันคือ การที่เราไม่รับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้จะเป็นพยานหลักฐานดี มีน้ำหนักที่จะฟังได้ว่าพิสูจน์ความผิดจำเลยได้แต่ก็ไม่ให้ฟังเพราะสาเหตุเดียวกันว่า เพื่อยับยั้งไม่ให้เจ้าพนักงานไปแสวงหาพยานหลักฐานในทางที่ไม่ชอบซึ่งจะเป็นการกระทบกระทั่งสิทธิของประชาชน
ม.226/1 คิดว่าการที่มีการบัญญัติ ม.226/1 ว่าพยานที่เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายแต่การได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปกติไม่ให้รับฟังเพราะเป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมและเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ ที่ดี ก็สามารถที่จะให้ศาลใช้ดุลพินิจเอามารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ บทบัญญัติ ม.226/1 ของไทย เป็นการยกเว้นหลักการไม่ให้รับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นการทำลายหลักการไม่ให้รับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วท่านเห็นว่าจำเป็นหรือไม่ที่เราจะบัญญัติ ม.226/1 มีผลดีผลเสียอย่างไร เป็นการทำลายหลักเกณฑ์หรือไม่ ควรจะคงไว้หรือยกเลิกหรือไม่อย่างไร
กฎหมายคอมมอลลอว์ นักกฎหมายไทยมักจะพูดเสมอว่าทำไมไม่เอาหลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษมาใช้ ต้นไม้เป็นพิษ ดอกผลก็ย่อมเป็นพิษ ไม่ต้องมีการยกเว้นใดๆ หลักการตัดพยานถ้าพยานไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลก็ไม่ต้องรับฟัง นั่นเป็นความคิดเห็นของนักกฎหมายไทยก่อนที่จะมี ม.226/1 แต่แท้ที่จริงแล้วหลักดอกผลต้นไม้เป็นพิษส่วนมากแล้วต่างประเทศจะใช้ แต่ถ้าเราไม่พบคำพิพากษาที่ตัดสินคดีไว้เราก็จะไม่รู้ว่าบางทีต่างประเทศก็ยกเว้นไม่ใช้หลักไม่รับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน เหมือนกับที่ไทยบัญญัติ ม.226/1 เป็นข้อยกเว้น ต่างประเทศก็ตัดสินเป็นข้อยกเว้นเช่นกัน ความจริงศาลไทยมีการวางหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นการรับฟังพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน นอกจากเรื่องการค้นการจับเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน ไทยก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาอื่นอีก เช่น การล่อซื้อยาเสพติด บางครั้งศาลไทยก็ตัดสินยกเว้นหลักกฎหมายเรื่องของพยานหลักฐาน การที่สายลับไปหลอกให้พ่อค้าแม่ค้ายาเสพติดไปแสวงหายาเสพติดมาให้เหมือนเขาไม่มียาเสพติดแล้วไปขอซื้อ เขาไม่มีขอเวลา 15 วันไปหามาให้ ความจริงเป็นการหลอกให้เขากระทำความผิดทำให้เกิดการกระทำความผิด แต่ศาลก็ไม่เคยตัดสินบอกว่านี่เป็นการก่อให้เกิดการกระทำความผิดแต่ศาลให้เหตุผลว่าเป็นการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด ศาลไทยก็ตัดสินว่าเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด ศาลต่างประเทศเมื่อจะยกเว้นหลักการรับฟังพยานเขาจะใช้คำว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาสุจริต ในแนวคำพิพากษาของอเมริกามีอยู่หลายเรื่องที่มีการยกเว้นหลักนี้แต่ไม่ค่อยจะชัดเจนมากเท่ากับเรื่องของการกระทำโดยเจตนาสุจริต
ในคดีเรื่องแรกเป็นเรื่องของ US กับนายดีออน ศาลตัดสินในปี 1984 คดีที่สองเป็นเรื่องของมลรัฐอเล็คโซน่ากับนายอีแวน ตัดสินในปี 1995 ทั้งสองคดีนี้เป็นการวางหลักซึ่งต่อมาก็ถือว่าเป็นหลักข้อยกเว้นเรื่องการกระทำโดยเจตนาสุจริต
ข้อสังเกต ก่อนนี้คู่ความจะขึ้นด้วยชื่อมลรัฐมาก่อนบ้าง เป็นชื่อของจำเลยคนธรรมดามาก่อนบ้าง ซึ่งต่างกับศาลไทย ที่ศาลชั้นต้นพนักงานอัยการ โจทก์ นายแดง จำเลย ในชั้นอุทธรณ์ ของไทยพนักงานอัยการ โจทก์ นายแดง จำเลย ถ้าเป็นกรณีที่นายแดงเป็นฝ่ายอุทธรณ์บรรทัดถัดมาเป็นจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น พอชั้นฎีกาของไทยก็ยังคงเป็นพนักงานอัยการ โจทก์ นายแดง จำเลย ไม่ว่าใครจะฎีกาชื่อโจทก์กับจำเลยก็ยังคงเหมือนเดิม แต่ของต่างประเทศจะเปลี่ยนหากฝ่ายใดเป็นฝ่ายยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ในเรื่องแรกๆ นั้นฝ่ายประชาชนจะขึ้นก่อน แต่ในสองเรื่องหลังฝ่ายมลรัฐเป็นฝ่ายฎีกาจึงขึ้นก่อน
ในคดีเรื่องแรกระหว่าง US กับนายดีออน เป็นเรื่องที่ซึ่งเจ้าพนักงานไปขอศาลออกหมายค้นบ้านนายดีออน แต่หมายค้นนั้นหลักฐานการออกหมายค้นความจริงแล้วไม่มีเหตุที่จะออกหมายค้น เป็นเรื่องที่ไปออกหมายค้นโดยที่ปกติแล้วศาลต้องไม่ออกหมายค้น แต่ผู้พิพากษาอเมริกันท่านนี้ไม่ได้ดูให้ละเอียดได้ออกหมายผิดพลาด ตำรวจก็เอาหมายค้นนี้ไปค้นบ้านนายดีออนพบยาเสพติดซุกซ่อนอยู่ในบ้านจึงจับนายดีออนไปดำเนินคดี เรื่องนี้นายดีออน สู้คดีว่าหมายค้นไม่ชอบเป็นเรื่องของหลักการตัดพยาน เมื่อออกหมายค้นไม่ชอบพยานหลักฐานที่ได้มาก็ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นก็ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ก็ยกฟ้อง ศาลสูงของอเมริกันตัดสินว่าหลักการตัดพยานนั้นพิทักษ์ต่อการก้าวล่วงต่อการกระทำอันไม่ชอบของเจ้าพนักงาน เรื่องนี้เจ้าพนักงานเอาหมายซึ่งศาลออกมาไปค้นบ้านของนายดีออนเป็นการกระทำโดยเจตนาสุจริต เขาไม่ได้กลั่นแกล้ง ฉะนั้นยาเสพติดนั้นจึงใช้ยันเป็นพยานหลักฐานได้ ด้วยเหตุผิดที่ผู้พิพากษาออกหมายผิดเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เจ้าหน้าที่ทำไปโดยเจตนาบริสุทธิ์ เจตนาสุจริต รับฟังได้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เอาหลักตัดพยานมาตัดสินแต่ศาลสูงสหรัฐอเมริกากลับลงโทษเพราะเห็นว่าพยานหลักฐานนั้นฟังได้
เรื่องระหว่างมลรัฐอเล็คโซน่ากับนายอีแวน ก็เช่นกันเป็นเรื่องซึ่งประหลาดที่ในอเมริกาก็มีแบบนี้ด้วย คือ เจ้าพนักงานไปขอออกหมายค้น หมายจับนายอีแวน ศาลไต่สวนแล้วก็ออกหมายค้นหมายจับนายอีแวน เจ้าพนักงานก็เอาหมายจับหมายค้นนี้ไปตั้งด่านจับรถที่ผ่านมาตรวจค้นก็เจอนายอีแวนชื่อตรงกับหมายจึงค้นรถนายอีแวนและเจอยาเสพติด เจ้าพนักงานจึงจับนายอีแวนมาดำเนินคดี ปรากฏนายอีแวนบอกว่าเขาไม่มีประวัติ ดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานดูประวัติปรากฏว่าเป็นคนละคนกัน จึงเป็นการจับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะหมายค้นหมายจับที่ออกมานั้นต้องการจับนายอีแวนคนอื่น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ใช้หลักตัดพยานตัดสินยกฟ้องหมด ศาลสูงสหรัฐอเมริกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานในเรื่องนี้เหมือนเรื่องแรก บอกว่าเจ้าพนักงานทำโดยเจตนาสุจริต ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้ง
จะเห็นไว้ว่าศาลสูงของสหรัฐอเมริกาคงภูมิใจที่ทำไมยาเสพติดจำนวนมากที่เจอที่บ้านของนายดีออน เจอในรถของนายอีแวนก็ดีแล้วทำไมจะต้องปล่อย เพราะยาเสพติดเป็นภัยต่อสังคม ต่อส่วนรวม แล้วจะเอาหลักการตัดพยานมาใช้เพื่อปล่อยจำเลยทำไม เขาจึงสร้างหลักข้อยกเว้นขึ้นมาเพื่อแปลงว่าพยานหลักฐานนั้นรับฟังได้ ก็คงเป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจในการสร้างหลักยกเว้นหลักการตัดพยาน
2. การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาที่ 218/2475 พนักงานสอบสวนแนะนำจำเลยให้รับสารภาพบอกว่าจะได้รับความกรุณาจากท่านผู้พิพากษาลดโทษให้ จำเลยจึงให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาศาลจึงลดโทษให้ แต่ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่ให้รับสารภาพแล้วลดโทษซึ่งเป็นเรื่องปกติ พนักงานสอบสวนไปบอกว่าที่ให้รับสารภาพเพราะพยานหลักฐานในเรื่องนี้แน่นหนามากดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด คำพูดนี้เป็นการจูงใจหรือทำนองหลอกลวงให้เขารับสารภาพให้เขาหลงเชื่อ ถือว่าเป็นการไม่ได้รับสารภาพโดยความสมัครใจ เอาคำรับสารภาพมาลงโทษไม่ได้
ฎีกาที่ 1039/2482 พนักงานสอบสวนให้จำเลยรับสารภาพแล้วบอกจะกันไว้เป็นพยาน (เอาพยานซึ่งรู้เห็นการกระทำความผิดด้วยกันคนใดคนหนึ่ง ซึ่งในทำนองและพฤติกรรมที่มีความรุนแรงน้อยเอามาเป็นพยานเพื่อซัดทอดคนอื่นๆ) แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วพนักงานสอบสวนไม่กันไว้เป็นพยานและอัยการก็ฟ้องเป็นจำเลย จำเลยก็ต่อสู้ว่าที่รับสารภาพในชั้นสอบสวนนั้น เขาไม่ได้รับสารภาพด้วยความสมัครใจเพราะพนักงานสอบสวนบอกให้รับสารภาพเพื่อจะกันไว้เป็นพยาน มันมีผลประโยชน์ตอบแทนเขาจึงรับสารภาพ เช่นนี้ก็เป็นคำรับสารภาพที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเกิดจากการให้สัญญาของเจ้าพนักงานรับฟังเป็นพยานไม่ได้
ฎีกาที่ 473/2539 จำเลยยอมรับสารภาพเพราะพนักงานสอบสวนบอกว่าถ้าไม่รับจะจับกุมเมียและคนในบ้าน นี่ก็เป็นพยานหลักฐานที่ถูกบังคับให้กลัว แนวคำพิพากษาบอกฟังไม่ได้
ฎีกาที่ 3362/2537 เป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตำรวจไปตั้งด่านตรวจตามทาง จำเลยขับรถพาภรรยามาแล้วตำรวจเข้าทำการตรวจค้นรถเจอกัญชาซุกซ่อนอยู่ที่หลังคารถ ภรรยาจำเลยบอกตำรวจที่ขณะตรวจค้นที่มียศเป็น พ.ต.ท. บอกว่าจำเลยไม่รู้เรื่องหรอกกัญชานี้เป็นของตน จำเลยเพิ่งกลับมาจากต่างจังหวัดให้ขับรถไปหาหมอ พ.ต.ท. คนนี้ก็บอกกับจำเลยว่าจำเลยเป็นคนขับรถต้องถือว่าจำเลยครอบครองรถ กัญชาอยู่ในรถต้องถือว่าครอบครองกัญชาด้วย จำเลยจึงให้การรับสารภาพ ซึ่งเป็นคำรับสารภาพที่เกิดจากการแปลโดยจูงใจของเจ้าพนักงานว่าแปลว่าถ้าขับรถก็ถือว่าครอบครองกัญชาด้วยจึงไม่เป็นการรับสารภาพด้วยความสมัครใจ
ฎีกาปี 2544 ตำรวจจับกุมนาย ส. ข้อหามียาบ้าไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วขยายผล ส. บอกซื้อจากบ้านจำเลย ตำรวจจึงบอกให้นาย ส. เป็นสายลับไปล่อซื้อถ้ายอมเป็นสายลับจะไม่ดำเนินคดีข้อหามียาบ้าไว้ในครอบครอง จำเลยก็ยอมเป็นสายลับ วางแผนจับกุม นาย ส. ล่อซื้อยาบ้ามาได้ก็เอามามอบให้ตำรวจ ผลที่สุด นาย ส. ก็มาเป็นพยานเป็นประจักษ์พยานแต่คำเบิกความปากนาย ส. ศาลฎีกาบอกว่าเป็นพยานปากที่รับฟังไม่ได้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นพยานโดยมีคำมั่นสัญญาจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการไปล่อซื้อว่าไม่ถูกดำเนินคดีข้อหามียาบ้า จึงฟังเป็นพยานไม่ได้
ฎีกาที่ 924/2544 จำเลยขับรถเป็นเหตุให้เพื่อนที่นั่งมาด้วยถึงแก่ความตาย จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ขับรถ แต่คนที่ตายเป็นคนขับ ปัญหาก็ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยขับรถหรือไม่ ปรากฏว่าในชั้นสอบสวนจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเป็นคนขับเพื่อนที่ตายเป็นคนนั่ง แต่ขณะที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนเช่นนี้ ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนรู้อยู่แล้วว่าเพื่อนของจำเลยที่ส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นตายแล้วแต่ไม่บอกจำเลย ปัญหาว่าถ้าบอกว่าเพื่อนตายแล้วจำเลยอาจจะไม่รับสารภาพ ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน ศาลฎีกาบอกว่าไม่ถือว่าเป็นการล่อลวงจูงใจว่าให้จำเลยยอมรับว่าเป็นคนขับรถคันเกิดเหตุ อาจจะมองดูว่าเรื่องผลของการตายของเพื่อนจำเลยเป็นเรื่องธรรมดาเพราะได้รับบาดเจ็บสาหัส พฤติการณ์นี้ไม่ถือว่าเป็นการจูงใจเป็นพยานที่รับฟังได้
ข้อสังเกตพยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำความผิดรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เพียงใด
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาสรุปได้ว่า ในเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติดถือว่าเป็นภัยที่ร้ายแรงเป็นอันตรายต่อสังคม แนวคำพิพากษาศาลฎีกาจะแปลเหมือนกันทุกเรื่องว่าการที่เจ้าพนักงานให้สายลับไปล่อซื้อยาเสพติดขณะที่ไปซื้อยาเสพติดนั้นไม่ว่าจำเลยจะมียาเสพติดขายให้ในทันทีหรือไม่ บางเรื่องข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจะต้องขอเวลา 15 วันไปรวบรวมมาก่อนแล้วมานัดส่งมอบในภายหลัง ซึ่งกรณีนี้จะเป็นเรื่องชัดเจนว่าขณะที่สายลับไปซื้อนั้นไม่มียาเสพติด แต่เขาก็ต้องไปหามาให้ ไปรวบรวมมาให้ก็เป็นการที่เขาไม่มีของอยู่ในมือ ศาลแปลว่ากรณีอย่างนี้เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์จำเลยทุกเรื่องไม่แปลว่าเป็นการล่อลวงให้จำเลยกระทำความผิด
แต่ถ้าไม่ใช่ยาเสพติดแต่เป็นสิ่งของอย่างอื่นซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีผลกระทบต่อสังคม ไม่มีผลกระทบต่อสังคมไม่มีผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน เป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชน ศาลจะตัดสินตรงไปตรงมาว่าการที่ฝ่ายผู้เสียหายไปหลอกลวงให้จำเลยกระทำความผิดเช่นนี้ผู้เสียหายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย สรุปในเรื่องพยานหลักฐานได้ว่าพยานหลักฐานเช่นนี้เป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเอามารับฟังเป็นพยานไม่ได้
จากประสบการณ์ในการเขียนคำพิพากษาในศาลฎีกา สำหรับคดียาเสพติดในช่วงที่มีการปราบปรามยาเสพติดอย่างมากและมีการกล่าวหาว่ามีการฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติดปรากฏว่าผู้ค้ายาเสพติดเลิกไม่ค้าขายยาเสพติดเพราะกลัวตาย และก็มีกฎหมายให้รางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับคดียาเสพติด ช่วงนั้นได้มีคดีที่ตำรวจให้สายลับไปล่อซื้อยาเสพติดแล้วสายลับไปซื้อโดยที่ฝ่ายจำเลยบอกในชั้นสอบสวนว่าวันที่เขารับสารภาพว่าเขาเลิกขายแล้วแต่สายลับไปคะยั้นคะยอว่าขอซื้อ 2,000 เม็ด ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนสายลับมาซื้อ 100 – 200 เม็ด ดังนั้นจึงขอเวลาในการหายาเสพติดให้แก่สายลับโดยการไปกว้านซื้อหายาเสพติดแล้วนำไปส่งมอบให้สายลับแล้วถูกจับ เมื่อมีการสู้คดีจำเลยไม่สู้ปัญหาข้อกฎหมายนี้แล้วศาลก็ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดเลย ทั้งๆ ที่พยานหลักฐานชัดๆ แบบนี้ไม่มีการหยิบยกขึ้นมาสู้คดี
แนวคำพิพากษาศาลฎีกา
ฎีกาที่ 230/2504 เป็นเรื่องการล่อซื้อสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) ศาลตัดสินว่าการที่มีคนมาร้องเรียนแล้วตำรวจปลอมเป็นประชาชนไปซื้อสลากกินรวบจากจำเลย จำเลยก็ขายให้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้หลอกลวงให้จำเลยกระทำความผิดแต่เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่มีผู้แจ้ง
ฎีกาปี 1163/2518 มีผู้ร้องเรียนต่อ ร.ต.ท. ว่าสถานอาบอบนวดของจำเลย ที่ 1 มีการลักลอบค้าประเวณีจึงให้ ส.ต.ท. ไปสืบดู ส.ต.ท.จึงเข้าไปสถานอาบอบนวดของจำเลยที่ 1 ไปใช้บริการจำเลยที่ 2 อาบน้ำด้วยแล้วก็ขอร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ให้ร่วมประเวณีโดยรับค่าตอบแทน ส.ต.ท.หลังจากเสร็จกิจแล้วก็จับกุมข้อหาลักลอบค้าประเวณี ศาลตัดสินว่านี่เป็นเรื่องของการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดจำเลยเพราะถ้าหากว่าไม่ได้มีการลักลอบค้าประเวณี เมื่อ ส.ต.ท. ขอร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ต้องปฏิเสธไม่ร่วมประเวณี
สรุปได้ว่า การที่เจ้าพนักงานให้คนไปล่อซื้อยาเสพติดก็ดี ไปล่อซื้อประเวณี ล่อซื้อหวยใต้ดินก็ดี แนวคำพิพากษาศาลฎีกานั้นตัดสินว่าเป็นวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างเช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2542 บอกว่าการที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อยาเสพติดให้แก่จำเลยมิได้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ได้ผิดศีลธรรม มิได้ใส่ร้ายป้ายสีหรือยัดเยียดความผิดให้จำเลย หากจำเลยไม่มียาเสพติดให้โทษไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อสายลับไปขอซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลย จำเลยย่อมไม่มียาเสพติดให้โทษจำหน่ายให้กับสายลับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8470/2544 ก็เป็นกรณีที่ให้สายลับไปล่อซื้อยาเสพติดจากจำเลยเป็นการพิสูจน์ความผิดแสวงหาพยานหลักฐานโดยชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินตรงกันข้ามเพียงแต่ถ้อยคำที่ใช้ไม่ได้ใช้ว่าเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบแต่ใช้คำว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2543 เป็นเรื่องที่บริษัทยักษ์ใหญ่สร้างคอมพิวเตอร์ต้องการปราบปรามผู้ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เขาก็ให้คนไปสั่งให้จำเลยไปซื้อเอกสารประกอบคอมพิวเตอร์ 20 ชุดแล้วบอกว่าให้ใส่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเขา จำเลยก็รับทราบและกำหนดวันส่งมอบ เมื่อถึงวันส่งมอบเขาก็ส่งมอบคอมพิวเตอร์พร้อมด้วยโปรแกรมที่ระบุไว้ แทนที่จะเอาคอมพิวเตอร์ไปเอาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับแล้วยึดคอมพิวเตอร์เป็นหลักฐานข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ศาลฎีกาตัดสินว่าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของฝ่ายโจทก์ซึ่งได้ล่อซื้อจากคนของฝ่ายโจทก์เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด โจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องคดีนี้ ก็แสดงว่าพฤติการณ์ที่ให้เขาประกอบคอมพิวเตอร์โดยระบุเอาโปรแกรมอย่างนี้เป็นการก่อให้เกิดการกระทำผิด เป็นการล่อลวงให้กระทำความผิดเพื่อจับเขานั่นเองไม่ใช่เป็นการล่อซื้อหรือล่อจับ แต่เป็นการก่อให้กระทำความผิดเพื่อจะจับ เป็นการล่อลวงให้กระทำความผิดไม่ใช่เป็นการพิสูจน์ความผิด ไปหลอกให้เข้ากระทำความผิดแล้วจับ
ถ้าดูในเรื่องยาเสพติดทำไมศาลไม่ตัดสินเช่นนี้ ทั้งๆ ที่บางครั้งมีปรากฏในสำนวนจากคำให้การชั้นสอบสวน แต่โดยมากแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยเอาข้อกฎหมายนี้สู้คดีโดยตรงแต่จะปรากฏในสำนวนเท่านั้นเองว่าฝ่ายโจทก์บางครั้งก็นำสืบเองว่าสายลับให้การว่าตอนนี้จำเลยยังไม่มียาเสพติดต้องขอเวลาไปรวบรวม 15 วันแล้วจึงนัดวันส่งมอบของ สิ่งเหล่านี้ก็คล้ายๆ กันกับตอนที่ไปซื้อจำเลยยังไม่มียาเสพติดแล้วก็ไปแสวงหามาให้ทำไมไม่แปลว่าเป็นการหลอกลวงให้กระทำความผิดได้ แต่พอเรื่องโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำไมแปลว่าเป็นการหลอกให้เขากระทำความผิด เป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิดไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
คำพิพากษาเรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นว่าถ้าเป็นเรื่องปกติธรรมดาแล้วที่ไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวมศาลก็จะแปลพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงว่าเป็นการก่อให้เกิดการกระทำผิด แต่หากเข้าเป็นเรื่องยาเสพติดหรือการกระทำความผิดที่มีผลร้ายแรงต่อส่วนรวมเมื่อใดศาลจะไม่แปล ศาลจะแปลว่าเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์เสมอ ทั้งนี้และทั้งนั้นถ้าศาลยอมให้มีการพิสูจน์ว่าไปล่อซื้อยาเสพติดแล้วจำเลยขอเวลารวบรวมยาเสพติดเป็นการก่อให้จำเลยกระทำความผิดเมื่อใด ผู้ขายยาเสพติดก็จะลอยตัว ยาเสพติดและผู้ร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง เดือดร้อน
ข้อสังเกตของคำรับสารภาพของจำเลยที่เกิดจากการต่อรองคำรับสารภาพ (Plea Bargaining) เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เป็นเรื่องที่ใช้อยู่ในระบบกฎหมายคอมมอลลอว์ เป็นเรื่องที่โจทก์หรือจำเลยหลังจากที่เปิดเผยพยานหลักฐานของแต่ละฝ่ายแล้วก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเขาก็จะเปิดให้ทั้งสองฝ่ายเสนอเจรจาต่อรองคำรับสารภาพ ฝ่ายโจทก์อาจจะเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ด้อย บกพร่อง โจทก์ก็ไปเสนอกับจำเลยว่าข้อหาโจทก์ที่ฟ้องมากล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหาจะฟ้องข้อหาเดียว อีก 2 ข้อหาไม่ฟ้อง และให้จำเลยรับสารภาพข้อหาที่จะฟ้อง จะยอมรับหรือไม่ ฝ่ายจำเลยก็อาจจะต่อรองเรื่องโทษที่ได้รับว่าขอให้รอการลงโทษ ข้อหาหนักให้เป็นข้อหาเบา แล้วอัยการก็เสนอคำฟ้องต่อศาลตามที่ได้ต่อรองกันและศาลก็จะตัดสินตามที่ต่อรองกันนั้น ซึ่งเป็นหลักที่ใช้อยู่ในกฎหมายคอมมอลลอว์ซึ่งเคยศึกษามาว่าถ้าศาลไม่ตัดสินตามที่ต่อรองกัน ก็ไม่มีตำราเล่มไหนที่จะบอกว่าไม่ได้ แต่ดูในคำพิพากษาของอเมริกาก็ไม่ปรากฏอีกด้วยว่ามีคำพิพากษาเรื่องใดที่ศาลตัดสินนอกคำต่อรองของคู่ความ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สรุปได้ว่าเขาเชื่อถืออัยการโจทก์ที่เป็นคนต่อรอง อัยการของต่างประเทศมีอำนาจมาก มีอำนาจต่อรอง มีอำนาจสูงสุดในการที่จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง สั่งการเด็ดขาดได้
ของไทยจึงเกิดความคิดว่าสมัยหนึ่งเขาต้องการลดคดีขึ้นสู่ศาล เขาก็จะเปิดโอกาสให้อัยการเอาคดีมาต่อรองคำรับสารภาพ ก็เกือบจะใช้แล้วแต่ก็ยังมีข้อขัดข้อง มีข้อโต้แย้ง ในกฎหมายปัจจุบันที่มีอยู่ในไทยนักกฎหมายของไทยมีความเห็นเป็น 2 แนวทาง
1. ยึดตามความเห็นของต่างประเทศว่าต่างประเทศทำได้ของไทยก็ต้องทำได้ การต่อรองคำรับสารภาพไม่เป็นการให้คำมั่นสัญญาจูงใจให้รับสารภาพ
2. เห็นว่าทำไม่ได้เพราะการที่บอกข้อหาหนักเป็นข้อหาเบา รอการลงโทษจำคุกให้ เป็นการให้คำมั่นสัญญา จูงใจ และเห็นว่าขัดต่อ ป.วิ.อาญา ม.226, 235 เป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4. ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบถามบุคคลภายนอกโดยที่บุคคลนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะพยานในคดีจะเอามารับฟังเป็นพยานไม่ได้ คือพยานหลักฐานที่ศาลจะเอามาใช้วินิจฉัยคดีหรือรับฟังในคดีนั้นต้องเป็นพยานหลักฐานที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลโดยชอบด้วยกฎหมาย มีการยื่นบัญชีระบุพยาน มีการอ้างเข้าสู่กระบวนการพิจารณา มีการสาบานตนหรือมีการเบิกความหรือแถลงรับข้อเท็จจริงกันในศาล โดยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2484/2520 คดีนี้เกิดขึ้นในปี 2515 มีหญิงสาวคนหนึ่งอายุ 18 ปีเศษ ถูกจำเลยฉุดไปเป็นภรรยาแล้วมีลูกด้วยกัน 1 คน แต่ตอนที่ฉุดไปนั้นพ่อของฝ่ายหญิงไปแจ้งความข้อหาพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจ เมื่อคดีมาถึงศาลอัยการฟ้อง วันนัดสืบพยานโจทก์อัยการโจทก์มาช้าผู้เสียหายมาก่อน ผู้พิพากษาใจร้อนเรียกผู้เสียหายเข้าไปในห้องสอบถามข้อเท็จจริงว่าถูกฉุดไปไม่เต็มใจใช่หรือไม่ ผู้เสียหายบอกว่าเต็มใจไปด้วย ผู้พิพากษาจึงจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าผู้เสียหายแถลงว่าเต็มใจไปกับจำเลยไม่ได้ฉุดงดสืบพยานนัดฟังคำพิพากษา แล้วก็พิพากษายกฟ้อง อัยการโจทก์อุทธรณ์ฎีกาว่าอัยการโจทก์ยังไม่ได้แถลงอะไรแต่ศาลจดรายงานฝ่ายเดียวยกฟ้อง ศาลฎีกาจึงบอกว่าการที่ผู้พิพากษาเรียกผู้เสียหายมาถามในห้องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะเขาไม่ได้แถลงในฐานะพยาน และไม่ได้อยู่ในฐานะพยานเพราะถ้าอยู่ในฐานะพยานต้องอยู่ในบัลลังก์หรือต่อหน้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งและมีการยอมรับข้อเท็จจริงกันแล้ว แต่คดีนี้อัยการไม่ได้รับข้อเท็จจริงศาลถามฝ่ายเดียว ศาลฎีกาจึงส่งสำนวนกลับให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตามกระบวนการพิจารณา ผู้เสียหายก็แถลงเหมือนเดิมว่าเต็มใจไป แถลงเพิ่มกว่าเดิมอีกนิดว่าปีที่ผ่านมาพลาดท่าเสียทีทำให้เกิดลูกมาอีก 1 คน ผู้พิพากษาคนใหม่ก็งดสืบพยานข้อเท็จจริงฟังได้พิพากษายกฟ้อง อัยการก็ไม่สู้คดี
เรื่องนี้เป็นเรื่องของพยานหลักฐานที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาแล้วศาลเอาข้อเท็จจริงนี้มาพิพากษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นว่าพยานหลักฐานที่ศาลจะเอามาวินิจฉัยคดีได้ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด
5. พยานที่เบิกความโดยไม่ได้สาบานหรือปฏิญาณต่อหน้าศาลจะรับฟังไม่ได้
ตาม ป.วิ.แพ่ง ม.112 ที่บัญญัติว่า ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติตนหรือกล่าวคำปฏิญาณว่าจะให้การด้วยความสัตย์จริงเสียก่อน ยกเว้นแต่บุคคลดังต่อไปนี้
สำหรับบุคคลข้อที่ 1 พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นเป็นเรื่องซึ่งกฎหมายได้แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ ม.108 ที่บอกว่าบุคคลเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องไปศาลตามหมายเรียก
บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ก็มีการแก้ไข ตามความเห็นของผู้บรรยายจะให้บุคคลที่ต่ำกว่า 10 ปีสาบานตนให้หมดเลยเพราะหลักสาบานนั้นต้องการที่จะเอามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพยานให้พยานพูดตามความจริงไม่ให้โกหก กฎหมายมีอยู่แล้วว่าถ้าพยานเบิกความเท็จก็จะมีความผิดตามกฎหมายฐานเบิกความเท็จ แต่พยานในอดีตที่ผ่านมาจะโกหกกันมากไม่ได้เกรงกลัวใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่อัยการโจทก์ก็เตือนแล้วแต่พยานไม่ฟัง ดังนั้นเขาจึงเอาคำสาบานมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
วิธีพิจารณาความตาม ม.112 เรื่องสาบานถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเรื่องการสาบานตนจึงเป็นกระบวนการพิจารณาเอามาใช้สาบานได้เป็นที่ยอมรับทั่วไป และส่วนมากทนายความสมัยก่อนมักจะแนะนำลูกความตนเองที่ไม่มีการสู้คดี เช่น คดีเงินกู้ที่มีการทำหลักฐานฝ่ายเดียว ก็จะมีการท้าสาบาน อีกฝ่ายหนึ่งก็จะสาบานตามคำท้า เสร็จแล้วก็ไปแก้คำสาบานทีหลังบอกว่าที่มาสาบานนี้เป็นการสาบานเพื่อเงิน
ฉะนั้นจึงควรให้มีการสาบานกันตั้งแต่เด็กๆ เพราะเด็กจิตใจยังอ่อนโยนอาจจะกลัวคำสาบาน
6. พยานเบิกความโดยฟังพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้ามาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นคำเบิกความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หลักเกณฑ์นี้อยู่ใน ป.วิ.แพ่ง ม.114 ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฎีกาตัดสินมาเป็นบรรทัดฐานแล้วว่า ป.วิ.แพ่ง ม.114 นี้เป็นบทบัญญัติที่นำมาใช้ในคดีอาญาด้วย เป็น ป.วิ.แพ่ง ม.114 ประกอบ ป.วิ.อาญา ม.15 ใช้ในคดีอาญาด้วยเพราะในคดีอาญานั้นไม่มีบทบัญญัติเหมือน ป.วิ.แพ่ง ม.114
ใน ป.วิ.แพ่ง ม.114 เป็นเรื่องซึ่งสรุปได้ว่า เป็นการห้ามมิให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความในภายหลัง ถ้ามีพยานอื่นที่จะมาเบิกความในภายหลังอยู่ในบัลลังก์ก็ให้ศาลเชิญออกจากบัลลังก์ นี่คือ ป.วิ.อาญา ม.236 แต่ที่ต่างจาก ป.วิ.อาญา ไม่มีคือ ถ้าพยานคนที่อยู่ในบัลลังก์ได้ฟังคำเบิกความของพยานปากนั้นๆ ไปแล้ว แล้วพยานคนที่อยู่ในบัลลังก์มาเบิกความเป็นพยานในภายหลัง อย่างนี้ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านว่าศาลต้องไม่ฟังพยานปากนี้คำเบิกความของพยานปากนั้นจะเป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจะไม่รับฟังพยานปากนั้น แต่ว่าศาลอาจใช้ดุลพินิจรับฟังพยานปากนี้ก็ได้ถ้าเห็นว่าไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
โดยหลักแล้วพยานที่จะเบิกความในภายหลังนั้นไปฟังพยานคนก่อนเขาเบิกความเพราะรู้แล้วว่าคนก่อนเบิกความว่าอย่างไร เป็นพยานฝ่ายเดียวกันก็มีโอกาสที่จะเสริม ปรับปรุง เสริมแต่งคำเบิกความของตนให้สอดคล้องกับพยานปากก่อนซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ ไม่ยุติธรรม เขาจึงห้ามไว้ เพราะเป็นเรื่องที่เสริมแต่งกันง่าย
สมมติว่าพยานที่จะเบิกความทีหลังเห็นว่าคนร้ายใส่เสื้อสีเหลือง แต่พยานนี้ไปนั่งฟังในบัลลังก์เพื่อนเบิกความก่อน เพื่อนเบิกความตอบทนายไปว่าคนร้ายใส่เสื้อสีแสด เมื่อถึงคราวตนเบิกความเป็นพยานจึงเบิกความว่าคนร้ายใส่เสื้อสีเหลืองเข้มๆ ออกสีแสด นั่นจึงแสดงให้เห็นว่ามีการปรับปรุงถ้อยคำให้สอดคล้องกับพยานปากก่อนได้ทำให้อีกฝ่ายต้องเสียเปรียบ
เหตุผลที่ห้ามไม่ให้รับฟังคำเบิกความพยานปากหลังเพราะจะทำให้อีกฝ่ายเสียเปรียบ เสียหาย ไม่เป็นธรรม แต่ว่าจะต้องมีการคัดค้านคำเบิกความว่าขอให้พยานของคู่ความอีกฝ่ายว่าไม่ให้ฟัง ถ้าไม่ค้านถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน
สำหรับพยานที่คัดคำเบิกความก็ต้องห้ามเช่นกัน เพราะฝ่ายเดียวกันไปคัดคำเบิกความมาแล้วให้ฝ่ายของตนเองอ่านแล้วไปเบิกความก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันว่าไม่ยุติธรรมตาม ป.วิ.แพ่ง ม.54(2)
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
ฎีกาที่ 4233/2528 เหตุนี้เกิดขึ้นที่ จ.สมุทรปราการ เป็นเรื่องหญิงสาวจบเภสัชกร มีคู่หมั้นเป็นวิศวกรหนุ่มมาปลูกเรือนหออยู่ในเขต จ.สมุทรปราการ ก่อนเกิดเหตุหญิงมาดูเรือนหอแต่คู่หมั้นไม่ได้มาด้วย ปรากฏว่าถูกคนติดยาเสพติดรูปร่างสูงใหญ่สักยันตร์ทั้งตัวฆ่าโหด หักคอข่มขืนทิ้งพงหญ้า ศาลจังหวัดสมุทรปราการถือเป็นเรื่องใหญ่เร่งด่วนจึงร่วมมือกับพนักงานอัยการ ตำรวจสอบสวนและสั่งฟ้อง ช่วงนั้นเริ่มมีการถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิดเทคโนโลยีสมัยใหม่นำมาใช้ ศาลจังหวัดสมุทรปราการก็เอามาถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิดออกมาข้างๆ ระเบียงศาลเพราะห้องบัลลังก์ไม่พอ ปัญหาว่ามีพยานที่จะเบิกความทีหลังนั้นดูโทรทัศน์วงจรปิดเขาไม่ได้ไปฟังคำเบิกความในบัลลังก์ อย่างนี้ต้องห้ามหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้วางหลักว่า ห้าม ถึงแม้ดูโทรทัศน์วงจรปิดพยานก็รู้ว่าพยานปากแรกเบิกความว่าอย่างไร พยานก็สามารถที่จะเอาไปดัดแปลงให้สอดคล้องกันได้ นอกจากนี้คำพิพากษาเรื่องนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ห้ามนั้นห้ามแค่ไหน ศาลใช้ดุลพินิจว่าแม้จะดูโทรทัศน์วงจรปิด สมมติมี 5 คน เอาเฉพาะคนที่ห้ามเบิกความในประเด็นเดียวกันเรื่องเดียวกัน 3 คนเท่านั้นห้าม คนที่เบิกความคนละเรื่องคนละประเด็นไม่ต้องห้าม นั่งฟังคำเบิกความเป็นของพยานปากแรก 5 คน แต่ 3 คนที่เบิกความในเรื่องเดียวกันห้าม อีก 2 คนไม่ห้าม
สมมติว่าพยานคนแรกเบิกความว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์ เขาเห็นผู้ตายกับจำเลยทะเลาะกันแล้วชกต่อยกัน จำเลยสู้ไม่ได้จึงไปเอามีดมาแทงผู้ตาย 2 ครั้ง แล้วจำเลยก็ถือมีดวิ่งออกไปจากที่เกิดเหตุบริเวณประตูทางเข้าที่เกิดเหตุ
พยานปากที่สอง เบิกความว่าที่ชกต่อยกันสาเหตุใดก็ไม่รู้แต่พอตนขี่รถจักรยานยนต์มากำลังจะเข้าประตูที่เกิดเหตุก็เห็นจำเลยถือมีดเปื้อนเลือดที่สวนออกไป
คำเบิกความอย่างนี้เป็นคนละขั้นคนละตอนไม่ต้องห้าม แม้ว่าคนที่เบิกความทีหลังจะไปฟังพยานปากแรกเบิกความก็ไม่ต้องห้าม คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้จะตัดสินให้เห็นชัดเจนว่าที่ว่าต้องห้ามนั้นมีลักษณะอย่างไร ไม่ได้เบิกความต่อหน้าในบัลลังก์ห้ามหรือไม่ ถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิดต้องห้ามหรือไม่ และที่ห้าม ห้ามเฉพาะที่เบิกความในประเด็นเดียวกัน เรื่องเดียวกันเท่านั้น ถ้าเบิกความคนละอย่างถึงแม้นั่งอยู่บัลลังก์ก็ไม่ต้องห้าม
ข้อสังเกต
ในชั้นสอบสวนเราจะเอาหลักเกณฑ์ ป.วิ.แพ่ง ม.114 ประกอบ ป.วิ.อาญา ม.15 มาใช้ในชั้นสอบสวนได้หรือไม่ ในชั้นพิจารณาคดีของศาลให้ศาลสืบพยานทีละคนไม่ให้พยานที่จะมาเบิกความในทีหลังมาฟังคำเบิกความของพยานปากแรก แล้วในชั้นสอบสวนห้ามหรือไม่ จะมีข่าวหนังสือพิมพ์ว่า มีลูกชายของนักการเมืองปัจจุบันนี้ชื่อเสียงโด่งดังไปทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นในผับ พนักงานสอบสวน สน. แห่งหนึ่งในกรุงเทพก็เรียกฝ่ายผู้เสียหายมา 5-6 คน พนักงานสอบสวนก็สอบพยานต่อหน้ากันพร้อมๆ กันให้พยานที่เป็นฝ่ายผู้เสียหาย 5 คนนั่งอยู่ด้วยกัน ทุกคนก็ช่วยกันให้การพนักงานสอบสวนก็พิมพ์ เสร็จแล้วก็ให้พยานลงชื่อโดยที่คำให้การเหมือนกันหมด ซึ่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนอย่างนี้จะเจอในคดีอาญาคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับศาล ทนายความหรืออัยการมักจะเจอเสมอว่าในคดีอาญากรณีที่มีพยานชุดเดียวกันหลายๆ คนพนักงานสอบสวนสบายเพราะจะสอบพยานชุดเดียวเหมือนกันทุกตัวอักษรแตกต่างกันเฉพาะชื่อ ที่อยู่ อาชีพ พ่อแม่เท่านั้นเอง ก็เป็นเรื่องที่ทำมากันมานานแล้ว การกระทำเช่นนี้ก็ทำให้พนักงานสอบสวนทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็ว แต่ปัญหาว่าเป็นธรรมหรือไม่ การสอบพยานเช่นนี้ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาความหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9378/2539 บอกว่า ป.วิ.อาญา ไม่ได้ห้ามไม่ให้คนอื่นหรือพยานปากอื่นเข้าฟังการสอบสวน ดังนั้นการที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำพยานทั้งห้าพร้อมๆ กันก็ไม่ทำให้การสอบสวนนั้นเสียไป ศาลใช้ดุลพินิจรับฟังคำให้การพยานโจทก์ทั้งห้าได้
คำพิพากษาดังกล่าวถือว่าการสอบสวนนั้นไม่เสียไป แต่อย่าคิดว่าคำพิพากษาศาลฎีกาจะตัดสินแล้วถูกต้องทั้งหมดแต่นี่เป็นตัวอย่างของการแปลกฎหมายเท่านั้น ทำไมศาลฎีกาตัดสินเช่นนี้ ถ้าศาลฎีกาไม่ตัดสินเช่นนี้ก็แสดงว่าการสอบสวนของพนักงานสอบสวนร้อยละ 80-90 ที่กระทำมาในอดีตเสียหมด ก็ยกฟ้องหมด ผู้ร้ายเต็มบ้านเต็มเมืองหมด ก็เป็นส่วนหนึ่ง เหตุผลนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ศาลอาจจะต้องแปลเพื่อรักษาสังคม ในเหตุผลที่แท้จริงต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าบทบัญญัติ ม.114 นี้ควรจะใช้ในชั้นสอบสวนด้วยหรือไม่ ทั้งที่มีใช้ในชั้นกระบวนพิจารณาของศาล เพราะการสอบสวนนั้นเป็นต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรม ถ้าพนักงานสอบสวนมีฝีมือทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกแทรกแซง มีอุดมคติสอบพยานได้อย่างถูกต้องเต็มที่กระบวนการยุติธรรมก็จะลื่นไหล
ถามว่าเห็นด้วยกับการนำ ม.114 ไปใช้ในชั้นสอบสวนหรือไม่ ควรจะแก้ไขหรือไม่ อย่างไร
8. การพิจารณาคดีนั้นจะต้องสืบพยานในการพิจารณาและการสืบพยานในศาลนั้นจะต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย จะกระทำลับหลังได้ในกรณีที่กฎหมายอนุญาตให้ทำลับหลังตาม ม.172 ทวิ พิจารณาโดยลับ ม.177
ในอดีตที่ผ่านมาการส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่นจำเลยจะไม่ตามประเด็นก็ได้ แต่ปัจจุบันนี้มีข้อยกเว้นจำเลยต้องตามประเด็น ถ้าส่งประเด็นสืบพยานลับหลังจำเลยได้ต้องเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี
เหตุผลที่ต้องมีการสืบพยานต่อหน้าจำเลยเพราะเป็นหลักประชาธิปไตยที่จะต้องให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เขาจะติดคุก ถูกประหารชีวิต ถูกกล่าวหาว่าอย่างไร พยานหลักฐานอย่างไรก็ต้องให้เขารู้
ฉะนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่าหลักการคุ้มครองพยาน โดยการสืบพยานลับหลังจำเลยนั้นเป็นไปได้หรือไม่ มีคนเสนอในเรื่องการคุ้มครองพยานบอกว่าต้องให้สืบพยานลับหลังจำเลยจึงจะเป็นการคุ้มครองพยาน ซึ่งขัดกับ ม.172 ทวิ หลักต้องสืบพยานโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยถือเป็นหลักสากล อยู่ๆ จะออกกฎหมายคุ้มครองพยานให้สืบพยานลับหลังจำเลยนั้นไม่ได้ แต่อาจจะสืบพยานโดยไม่ให้เผชิญหน้ากับจำเลยได้แต่ต้องให้จำเลยรู้ว่าพยานเป็นใคร สืบพยานว่าอย่างไร ใน ม.172 วรรคสามปัจจุบันนี้เพิ่มเติมว่าถ้าหากพยานมีภาวะสภาพแห่งจิตแล้ว ผวาวิตกเกรงกลัวต่อการเบิกความเป็นพยานศาลอาจจะให้สืบพยานโดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับจำเลยโดยใช้เทคโนโลยี อาจจะเป็นการสืบโดยวีดีโอคอนเฟอร์เรนท์หรืออาจมีข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2536 สรุปได้ว่าเป็นคดีเรื่องเดียวกันมีจำเลย 2 คน จับจำเลยคนแรกมาได้ก่อน สอบสวนเสร็จโจทก์ฟ้องก็สืบพยานไปก่อน สืบผู้เสียหายเสร็จ ต่อมาจับจำเลยคนที่สองมาสอบสวนด่วน ฟ้องด่วน เสร็จแล้วเป็นจำเลยในศาลเดียวกันเขาก็แถลงให้เอาคดีทั้งสองเรื่องรวมพิจารณาเข้าด้วยกันเพราะเป็นเรื่องเดียวกันเพียงแต่จับจำเลยได้ไม่พร้อมกันเท่านั้นเอง เมื่อรวมพิจารณาแล้วศาลก็สั่งนัดสืบพยานโจทก์ต่อไป เมื่อสืบพยานโจทก์ที่เหลือจนเสร็จสิ้นหมด สืบพยานเสร็จหมดแล้วจะพิพากษาคดี ปัญหาว่าจะเอาคำเบิกความของผู้เสียหายมาฟังเพื่อลงโทษจำเลยคนแรกซึ่งเรียกว่าจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ คำตอบคือได้เพราะผู้เสียหายมาเบิกความต่อหน้าจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้เอาผู้เสียหายมาเบิกความต่อหน้าซึ่งโดยปกติแล้วอัยการต้องแถลงเอาผู้เสียหายมาเบิกความต่อหน้าจำเลยที่ 2 ถ้าเป็นพยานสำคัญ เรื่องนี้อาจจะเป็นเพราะอัยการลืม ศาลเผลอหรือผู้เสียหายที่จะมาเบิกความหนีไปแล้ว ปรากฏว่าลงโทษจำเลยที่ 1 ได้คนเดียว ลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้เพราะคำเบิกความของผู้เสียหายนั้นไม่ได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยที่ 2 เอามาใช้ลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ เพราะคำเบิกความของผู้เสียหายที่เป็นประจักษ์พยานเป็นพยานสำคัญลงโทษไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1457/2531 คดีเรื่องนี้จับจำเลยได้ 2 คนพร้อมกันฟ้องเป็นคดีเดียวกัน เอาผู้เสียหายมาเบิกความต่อหน้าจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วตัดสินลงโทษในคดีเดิมและมีการลดโทษจำเลยที่ 1 จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ให้ฟ้องคดีใหม่ ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ที่ฟ้องเป็นคดีใหม่พนักงานอัยการก็ไม่ได้เอาผู้เสียหายมาเบิกความ แต่เอาเพียงพยานที่เหลือมาสืบจนเสร็จแล้วสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อจนเสร็จกระบวนพิจารณา ผู้พิพากษาเอาคำเบิกความของผู้เสียหายในคดีแรกมาลงโทษจำเลยที่ 2 ในคดีหลังได้เพราะเขาได้เอาผู้เสียหายเบิกความต่อหน้าจำเลยที่ 2 ไว้แล้วในคดีแรก
คำพิพากษาฎีกาที่ 5695/2540 ปัญหาว่าจะเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาซึ่งยุติแล้วในคดีเรื่องหนึ่งมารับฟังเป็นพยานเพื่อจะลงโทษจำเลยในคดีหลังได้หรือไม่
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นาย จ. กับจำเลยสมัยเป็นนักเรียนก็ไปตีกันกับพวกแล้วจำเลยหนีไปแต่เขาจับนาย จ. ได้ นาย จ. ขึ้นศาลจนคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดโดยศาลตัดสินว่านาย จ. กับจำเลยร่วมกันใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาอีก 19 ปี 6 เดือนจับจำเลยได้ ปัญหาข้อกฎหมายว่าคำพิพากษาของศาลที่เคยตัดสินไว้อย่างนี้เป็นข้อกฎหมายว่าจะเอามาลงโทษจำเลยไม่ได้เพราะขัดกับ ม.172 เพราะในขณะที่คดีของนาย จ. นั้นเอาผู้เสียหายมาเบิกความไม่ได้เบิกความต่อหน้าจำเลย แต่เป็นคำพิพากษาของศาลซึ่งอาจจะเอามาประกอบพยานหลักฐานอื่นได้แต่เอามารับฟังลงโทษจำเลยให้ยุติไม่ได้ต้องสืบพยานใหม่
ข้อสังเกต
1. ชั้นสอบสวนพยานในชั้นสอบสวนไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลย ชั้นสอบสวน สอบพยานไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลย เฉพาะในชั้นศาลพิจารณาที่ต้องทำต่อหน้าจำเลย เพราะชั้นสอบสวนนั้น ป.วิ.อาญา ม.134 บอกว่าไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลย
2. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจะเอาคำพยานโจทก์ชั้นไต่สวนมูลฟ้องอย่างเดียวมาเป็นพยานโจทก์ในชั้นพิจารณาคดีโดยไม่สืบพยานอื่นไม่ได้ เพราะในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้นเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาล ไม่ได้กระทำต่อหน้าจำเลยฉะนั้นจะเอามาลงโทษจำเลยไม่ได้ แต่คำพยานโจทก์ชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้นเป็นเรื่องที่กระทำโดยศาลซึ่งถือว่าเป็นเอกสารราชการอย่างหนึ่งสามารถใช้ประกอบพยานหลักฐานอื่นลงโทษจำเลยได้
ผลจากแนวคำพิพากษาทั้งหมดดังกล่าวได้มีการแก้กฎหมายใหม่ใน ม.226/1, 226/3, 226/5, 226/2 (ประวัติความประพฤติของจำเลย)
อย่างเช่น ม.226/5 มีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรหากรับฟังพยานหลักฐานอื่นนำมาประกอบเช่น บันทึกคำเบิกความชั้นไต่สวน บันทึกคำเบิกความในคดีอื่นเอามาประกอบเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้วเพราะมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา
สมมติว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีจำเลยซึ่งเป็นคนที่เชื่อมั่นในตนเอง ปกติจำเลยชั้นไต่สวนมูลฟ้องจะไม่มาศาลเพราะเมื่อศาลสั่งประทับฟ้องก็จะถูกจับทันที แต่จำเลยคนนี้ไปศาลทุกนัด ถ้าจำเลยไปศาลทุกนัดสามารถเอาคำพยานโจทก์ชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องสืบพยานใหม่ไม่ได้ เพราะในขณะที่ไต่สวนมูลฟ้องจำเลยไม่ได้อยู่ในฐานะจำเลยแต่เขาไปในฐานะคนธรรมดา และการกระทำนั้นจึงไม่ถือว่ากระทำต่อหน้าจำเลยทั้งๆ ที่จำเลยก็คือตัวเขานั่นเอง ฉะนั้นจะเอาคำพยานโจทก์ชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งแม้เขาจะนั่งฟังอยู่แต่เขายังไม่ได้อยู่ในฐานะจำเลยจะเอามารับฟังเป็นพยานไม่ได้ถ้าไม่สืบพยานใหม่นั้นใช้ไม่ได้
9. การนำสืบพยานฝ่ายตนในเรื่องที่ไม่ได้ถามค้านพยานอีกฝ่ายหนึ่งไว้ก่อนตาม ป.วิ.แพ่ง ม.89
ในคดีแพ่งการสืบพยานฝ่ายตนโดยที่ในเรื่องที่ตนไม่ได้ถามค้านพยานอีกฝ่ายหนึ่งไว้ก่อน ซึ่ง ป.วิ.แพ่ง ม.89 นี้ใช้คำว่าเป็นการพิสูจน์ต่อพยาน สรุปว่าถ้าคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะนำพยานหลักฐานของตนพิสูจน์ต่อพยานของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อหักล้างเปลี่ยนแปลงถ้อยคำของพยานในข้อความซึ่งพยานคนนั้นเป็นผู้รู้เห็นก็ดี เป็นผู้กระทำขึ้นก็ดี กฎหมายบังคับว่าต้องให้พยานฝ่ายที่จะเอาพยานมาสืบดังว่านี้ต้องถามค้านพยานปากนั้นไว้ก่อนให้เขาอธิบายที่มาที่ไปของถ้อยคำว่าเขาเป็นผู้รู้เห็นก็ดี ผู้กระทำขึ้นก็ดี
ป.วิ.แพ่ง ม.89 นั้นไม่ต้องการให้มีการสืบพยานเอาเปรียบกัน ระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความของไทยเป็นระบบกล่าวหา ส่วนจะเป็นระบบไต่สวนเฉพาะคดีแรงงาน คดีอาญานักการเมือง ระบบกล่าวหานั้นเป็นหน้าที่ของคู่ความที่จะต้องเอาพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ตนอ้าง ฉะนั้นฝ่ายที่เอาพยานมาสืบก่อนเมื่อสืบเสร็จแล้วเขาก็ไม่มีโอกาสที่จะไต่สวนพยานของเขาอีก ผู้ที่จะสืบพยานหลังนั้นจะอ้างว่าพยานที่เขาเอามาสืบฝ่ายแรกนั้นเป็นคำเบิกความที่ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่จริง ไม่ตรงแล้วเป็นเรื่องที่เคยรู้เห็นในเรื่องใดต้องถามให้เขาอธิบายไว้ ไม่ใช่พยานกลับไปบ้านแล้วไม่ได้มาแล้วมาสืบพยานทีหลังก็อ้างฝ่ายเดียวเป็นการเอาเปรียบ การสืบพยานลักษณะนี้เรียกว่าสืบพยานเอาเปรียบ ซึ่งกฎหมายห้ามถ้ากระทำฝ่าฝืนแล้วมีการคัดค้านก็จะถือว่าพยานนั้นรับฟังไม่ได้ ปัจจุบันนี้เรียกว่าเป็นการพิสูจน์ต่อพยาน การพิสูจน์ต่อพยานจะปรากฏอยู่ใน ม.120
ตัวอย่าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2522 โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบพยานก่อน ขณะที่โจทก์มาเบิกความ จำเลยไม่เคยเอาเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งอ้างว่าเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้น ซึ่งเป็นเอกสารที่โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ไม่เคยเอามาถามว่าโจทก์เคยทำเอกสารหมาย ล.1 ยกที่ดินให้จำเลยใช่หรือไม่ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วโจทก์กลับไปบ้าน เมื่อถึงเวลาสืบพยานจำเลย จำเลยก็เอาเอกสารหมาย ล.1 มายื่นว่านี่คือหลักฐานที่โจทก์ทำหนังสือยกที่ดินให้ตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ก็ไม่มีโอกาสอธิบายเลยว่าเอกสารนี้มีความเป็นมาอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ จริงหรือไม่ เพราะเป็นการกระทำของจำเลยฝ่ายเดียว การกระทำของจำเลยอย่างนี้เป็นการเอารัดเอาเปรียบ ทนายฝ่ายโจทก์ต้องแถลงคัดค้านในทันทีทันใดที่ฝ่ายจำเลยเอาเอกสารหมาย ล.1 มาอ้างว่าไม่ได้เอามาถามค้านโจทก์ก่อน ก็จะถือว่าพยานเอกสารหมาย ล.1 ถ้าหากทนายโจทก์คัดค้านเอกสารหมาย ล.1 จะเป็นเอกสารที่รับฟังไม่ได้ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง ม.89
ข้อสังเกต
1. แนวคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินว่า ป.วิ.แพ่ง ม.89 นี้ไม่ใช้กับคดีอาญา
2. แม้คดีอาญาจำเลยไม่ต้องซักค้านแต่แนวคำพิพากษาศาลฎีกานั้น ถ้าจำเลยในคดีอาญามาสืบพยานเอารัดเอาเปรียบโจทก์ดังที่ว่ามาแล้วนี้ศาลจะตัดสินว่าเป็นพยานที่มีน้ำหนักน้อย เพราะมีโอกาสถามค้านจำเลยไม่ถามค้านแต่พอพยานโจทก์กลับไปแล้วจำเลยก็เอาพยานมาสืบลับหลังเขา เป็นคดีอาญาทำได้แต่แนวคำพิพากษาศาลฎีกาให้ถือว่าพยานนี้มีน้ำหนักน้อย
3. ถ้าเป็นเรื่องที่คู่ความฝ่ายที่สืบทีหลังแม้จะไม่ถามค้านไว้แต่เขาต่อสู้ไว้ในคำให้การและอีกฝ่ายรู้แล้ว ถึงแม้จำเลยจะไม่ยกขึ้นมาถามค้านเพื่อพิสูจน์ต่อพยานตาม ป.วิ.แพ่ง ม.89 กำหนดไว้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องห้าม ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ไม่เอารัดเอาเปรียบเพราะโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยสู้คดีว่าอย่างไร โจทก์ก็ต้องอธิบายมาก่อนเมื่อจำเลยสืบพยานจะมาคัดค้านพยานนั้นไม่ได้
ยกตัวอย่าง สมมติว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยซื้อสินค้าไป 1 ล้านบาท ชำระเงินมาให้ 7 แสน ยังขาดค่าสินค้าที่จะต้องชำระอีก 3 แสน ฟ้องให้จำเลยชำระเงินอีก 3 แสนบาท จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าซื้อสินค้า 1 ล้านบาทจริง ชำระเงิน 7 แสนบาทจริงแต่อีก 3 แสนบาทไม่ต้องชำระเพราะมีข้อตกลงกันให้จำเลยเป็นตัวแทนที่จะจำหน่ายสินค้าให้โจทก์ โจทก์จึงลดเปอร์เซ็นต์ให้ 30% ข้อต่อสู้นี้ตอนที่โจทก์มาเบิกความเป็นพยานโจทก์จำเลยไม่ถามเลยว่าโจทก์เคยตกลงให้จำเลยเป็นตัวแทนแล้วจะลดให้ 30% เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จจำเลยสืบพยานแล้วอ้างว่ามีข้อตกลงนี้ อย่างนี้ไม่ต้องห้ามเพราะจำเลยสู้ไว้ในคำให้การและโจทก์รู้อยู่แล้ว ตอนโจทก์มาเบิกความโจทก์ต้องอธิบายว่ามีข้อตกลงหรือไม่ อย่างไร ไม่ได้เป็นการเอารัดเอาเปรียบกัน
10. พยานหลักฐานเท็จหรือพยานหลักฐานปลอมเป็นพยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เหตุที่พยานหลักฐานเท็จหรือพยานหลักฐานปลอมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะพยานหลักฐานเท็จหรือพยานหลักฐานปลอมไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้
11. พยานหลักฐานที่คู่ความไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามกฎหมาย
ระบบของศาลยุติธรรมเป็นระบบกล่าวหา และกติกาสำคัญประการหนึ่งคือ การยื่นบัญชีระบุพยาน กติกาในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้บางครั้งมีความสำคัญยิ่งกว่าพยานหลักฐาน ถึงแม้ว่าจะมีพยานหลักฐานดีแต่ถ้าไม่ยื่นบัญชีระบุพยานก็เอามาสืบไม่ได้
กติกาที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพิสูจน์พยานในการสืบพยานนั้นคือการยื่นบัญชีระบุพยาน การยื่นบัญชีระบุพยาน คือการไม่ให้มีการจู่โจมทางพยานหลักฐาน คู่ความทั้งสองฝ่ายจะสืบอะไรมีบัญชีระบุพยานเบื้องต้นไว้ก่อน ให้รู้ว่ามีพยานอะไรเพื่อไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกัน
การระบุบัญชีพยานนั้นมีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาแยกกันโดยสิ้นเชิง ยื่นบัญชีระบุพยานแพ่งตาม ป.วิ.แพ่ง ม.88 แยกได้ 3 ขั้นตอน
1. ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกก่อนสืบพยาน 7 วัน
2. ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายใน 15 วันนับแต่วันสืบพยานครั้งแรก
3. การขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยาน
หากไม่ยื่นบัญชีระบุพยาน ก็ไม่สามารถที่จะนำพยานนั้นมาสืบเป็นพยานได้
ยื่นบัญชีระบุพยานคดีอาญา
1. กรณีที่ศาลกำหนดมีวันตรวจพยานตาม ป.วิ.อาญา ม.173/1 ต้องยื่นก่อนวันตรวจพยาน 7 วัน
2. การไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดีที่ศาลไม่ได้กำหนดให้มีวันตรวจพยาน ปัจจุบันนี้ ป.วิ.อาญา ม.229/1 โจทก์ต้องยื่นบัญชีก่อนสืบพยาน ก่อนไต่สวนมูลฟ้องหรือก่อนพิจารณา 15 วัน จำเลยยื่นก่อนสืบพยานจำเลย
3. การไต่สวนคำร้องขอคืนของกลางให้ยื่นก่อนไต่สวน 7 วัน
ผลของการไม่ยื่นบัญชีระบุพยาน ม.229/1 วรรคท้าย ศาลก็จะไม่อนุญาตให้สืบพยาน แต่ใช้เฉพาะโจทก์โดยส่วนใหญ่ ส่วนจำเลยซึ่งถือว่าเป็นจำเลยคดีอาญาไม่เคร่งครัดศาลจะอนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานตลอด
ผลกระทบอันเนื่องมาจากปัญหาพยานบุคคล
ปัญหาพยานบุคคลมีทั้งชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณาคดี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่พยานไม่มาพบพนักงานสอบสวน พยานหลบหนี พยานถูกอิทธิพลแทรกแซง การกลับคำให้การ
1. ผลกระทบต่อความยุติธรรม
เมื่อไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความเป็นพยานในชั้นศาลหรือพยานอาจจะกลับคำให้การโดยยืนยันข้อเท็จจริงใหม่ ส่วนมากศาลยกฟ้อง
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 248/2543 เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายเป็นชาวต่างประเทศเอาเพชรพลอยมาค้าขายในประเทศไทยแล้วเขาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าเขาถูกปล้นทรัพย์โดยคนร้าย 3 คนซึ่งรู้จักกันซื้อนมยาคูลย์ให้ดื่ม ดื่มแล้วเขาหลับไป คนร้ายจึงเอาเพชรพลอยที่ขายเอาไปหมดเลย เป็นการประทุษร้ายโดยให้กินยานอนหลับแล้วเอาทรัพย์ไป ชั้นพิจารณาคดีของศาลพยานไม่ได้มาศาลเพราะพยานกลับไปต่างประเทศ ปรากฏว่าในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้ส่งขวดยาคูลย์กับปัสสาวะของผู้เสียหายไปตรวจ ที่ขวดยาคูลย์พบว่ามีสารไดอาร์ซีแพม แล้วในปัสสาวะของผู้เสียหายไม่พบเมทแอมเฟตามีน ซึ่งสารไดอาร์ซีแพมเป็นตัวหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนซึ่งมีฤทธิ์ทำให้นอนหลับ เพราะฉะนั้นถ้าหากในปัสสาวะไม่พบเมทแอมเฟตามีนแสดงว่าไม่มีไดอาร์ซีแพมด้วย ศาลฎีกาจึงตัดสินยกฟ้อง
ที่ไม่พบเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะผู้เสียหายก็มี 2 อย่าง คือ ผู้เสียหายไม่ได้กินยาคูลย์ หรือตอนส่งปัสสาวะไปตรวจนั้นไม่ได้เอาปัสสาวะผู้เสียหายไปตรวจ
2. ผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ
ผลกระทบในการที่ไม่มีพยานมาเบิกความต่อศาลทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ กระทบต่อสังคมนั้นมาก บุคคลในสังคมไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม มีทัศนคติที่ไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมจึงยิ่งไม่กล้าไปเป็นพยาน คนที่เป็นฝ่ายผู้เสียหายไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมก็จะตัดสินปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง คนที่ทำงานเต็มที่ก็ท้อแท้ไม่มีกำลังใจทำงาน
เจ้าพนักงานตำรวจมากมายในอดีตเป็นตำรวจมีฝีมือเปลี่ยนอาชีพใหม่ลาออกจากราชการตำรวจไปเป็นรองเจ้าพ่อทำให้เกิดสิ่งที่สำคัญตามมาคือเกิดกลุ่มผู้มีอิทธิพลเพราะกลุ่มผู้มีอิทธิพลนี้เขารู้ว่าทำอย่างไรแล้วไม่ต้องติดคุก มีคดีก็วิ่งเต้น ไปข่มขู่ ไปฆ่าพยาน จ้างให้พยานหลบหนี ศาลก็ยกฟ้องตลอด ศาลยกฟ้องเพราะผู้มีอิทธิพลมากมายค้าของเถื่อน ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าของหนีภาษี ตั้งบ่อนการพนัน สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าการขายก็ต้องอยู่ภายใต้ผู้มีอิทธิพลหมด ประมูลงานแข่งขันไม่ได้ รากหญ้าไม่มีรายได้ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในมือผู้มีอิทธิพลหมด แม้กระทั่งค้าขายกับต่างประเทศ คนต่างประเทศไม่กล้ามาค้าขายในประเทศไทย
ปัจจุบันนี้ถ้าไม่มีญาติพี่น้องผู้เสียหาย ไม่มีคนที่เจ็บแค้นจริงๆ ยอมมาเป็นพยานนั้นยากเหลือเกินที่เราจะมีพยานมาเบิกความในกระบวนการยุติธรรม บางคนมาในชั้นสอบสวนแต่พอชั้นพิจารณาคดีของศาลก็หายไป หรือบางครั้งมาเบิกความแต่กลับคำให้การ
สรุปประเด็นปัญหาพยานบุคคล
ปัญหาพยานบุคคลสืบเนื่องมาจากปัญหาสำคัญคือทัศนคติ คนไทยรักสงบไม่อยากยุ่งเรื่องของคนอื่น ไม่อยากเสียเวลา เกรงกลัวอันตรายกลุ่มอิทธิพลบังคับและไม่มีผลตอบแทนในการเป็นพยานอย่างคุ้มค่า สิ่งเหล่านี้ควรถึงเวลาแก้ไขเรื่องปัญหาพยานบุคคล
สำหรับสรุปเบื้องต้นเรื่องปัญหาพยานบุคคลนี้เราอาจจะกำหนดเรื่องที่จะต้องกระทำคือ
1. เรื่องความปลอดภัยที่เราจะต้องมีการคุ้มครองพยานให้ปลอดภัย พยานที่ไม่อยากมาเป็นพยานเพราะเขากลัวอันตรายเสียส่วนใหญ่ กฎหมายคุ้มครองพยานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ (พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน พ.ศ.๒๕๔๖) ยังให้ความปลอดภัยไม่พอ การคุ้มครองพยานที่สำคัญนั้นเขาสร้างกฎหมายคุ้มครองพยานขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้สำนักงานคุ้มครองพยานมีเจ้าหน้าที่คุ้มครองพยานโดยเฉพาะ ปัจจุบันนี้การคุ้มครองพยานของไทยยังต้องเอาไปฝากเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดิมซึ่งประชาชนก็ยังไม่ค่อยไว้วางใจในการคุ้มครองพยาน
กฎหมายคุ้มครองพยานของเราส่วนที่เป็นมาตรการคุ้มครองพิเศษมันไม่ได้ผล เราคัดลอกสหรัฐอเมริกามาโดยคิดว่าใช้กับประเทศไทยได้ แต่พื้นที่ประเทศก็แตกต่างกันมากที่บอกว่าให้เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล ย้ายที่อยู่ เมืองไทยเนื้อที่น้อย สหรัฐอเมริกามีเนื้อที่มากกว่าไทยมาก
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคืออุปนิสัย คนไทยเหมือนคนเอเชียจะแตกต่างกับคนที่เป็นอเมริกัน คนอเมริกันจะไม่ค่อยออกนอกบ้านเพราะหนาว แต่คนไทยมักจะอยู่นอกบ้านเพราะร้อน สิ่งที่สำคัญที่สุดสายสัมพันธ์ของบุคคลชาวเอเชียมีการพบปะติดต่อกันมากทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการในการปิดบังเพื่อคุ้มครองพยานได้ผล จะต่างจากคนยุโรป
นอกจากนี้กฎหมายคุ้มครองพยานของไทยยังด้อยอีกเรื่องคือมาตรการในความปลอดภัย เราจะมีมาตรการว่าถ้าไปกระทำต่อพยานที่อยู่ในการคุ้มครองให้ได้รับความเดือดร้อน ได้รับอันตรายบาดเจ็บถึงตายจะมีโทษหนักขึ้น เป็นโทษมาตรการเพิ่มทางอาญา แต่เราขาดกฎหมายตัวหนึ่งในการคุ้มครองพยาน แต่ฝรั่งนำวิธีการในการคุ้มครองพยานในเรื่องของการขัดขวางต่อกระบวนการยุติธรรมมาตรการหนึ่ง
สมมติว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งถูกกระทำการลวนลามทางเพศ แล้วบ้านเขาอยู่ริมถนนสาธารณะอยู่กับแม่ 2 คน ฝ่ายผู้ร้ายเป็นผู้ทรงอิทธิพลมีชื่อเสียงโด่งดังมีพรรคพวกมากมายพากันขับรถวนเวียนแถวบ้านเขาตลอด ผู้หญิงกับแม่ก็หวาดระแวงกลัว กฎหมายอาญาไทยไม่มีกฎหมายอะไรห้ามเพื่อลงโทษ แต่ต่างประเทศมีกฎหมายห้ามรบกวนพยาน ความจริงแล้วเราเคยมีกฎหมายนี้เขียนในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 237(2) ห้ามยุ่งเหยิงต่อพยาน ซึ่งน่าจะนำมาออกกฎหมายเรื่องห้ามรบกวนพยานด้วย
ตัวอย่างคดีของต่างประเทศซึ่งเรียกว่าการหลอกลวงพยานไม่ให้ไปเป็นพยาน เขาก็ใช้มาตรการห้ามรบกวนพยาน
สมมติเรื่องการหลอกลวงพยานของต่างประเทศ เป็นเรื่องของหญิงสาวได้รับการติดต่อให้ไปเป็นพยาน เขาจะต้องไปเบิกความไปให้การต่อพนักงาน นัดหมายเสร็จไปพบเจ้าพนักงาน แต่เมื่อจะออกจากบ้านมีคนโทรศัพท์มาหาแจ้งเหตุฉุกเฉินว่าพ่อของหญิงสาวเข้าโรงพยาบาลต่างมลรัฐ หญิงสาวก็ตกใจไม่ไปหาพนักงานตำรวจแล้วรีบไปโรงพยาบาลต่างมลรัฐที่รับแจ้งว่าพ่อเข้าโรงพยาบาลแต่ปรากฏว่าไม่เจอพ่อที่โรงพยาบาล วันนั้นหญิงสาวจึงไม่ได้ไปให้การต่อพนักงาน
เรื่องดังกล่าวในประเทศไทยไม่มีกฎหมายอะไรลงโทษผู้ที่โทรศัพท์ไปหลอกหญิงสาวได้ แต่ต่างประเทศมีกฎหมายเรื่องของการห้ามรบกวนพยาน
2. เรื่องการปฏิบัติต่อพยาน เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องปฏิบัติต่อพยาน ในอดีตที่ผ่านมาจะมองว่าพยานเป็นคนที่จะไปชี้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่เท่านั้นเอง ไม่ได้มองว่าพยานนั้นมีพระคุณต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ความจริงแล้วถ้าไม่มีพยานเลยกระบวนการยุติธรรมจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง อย่าไปมองว่าพยานมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องมาเบิกความชี้ตัวคนร้ายเท่านั้นเอง แต่จริงแล้วพยานคือผู้มีพระคุณต่อกระบวนการยุติธรรมดังนั้นจะต้องปฏิบัติต่อพยานอย่างไร การปฏิบัติต่อพยานจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อพยานจากการที่ไม่อยากไปเป็นพยาน เราต้องเอาการกระทำของบุคคลในสังคมเชิดชูพยาน
เริ่มต้นที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติต่อพยานอย่างผู้มีพระคุณ อย่างมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรี ให้เกียรติแก่พยาน
3. เรื่องค่าตอบแทนพยาน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องให้ค่าตอบแทนในการไปเป็นพยานอย่างเหมาะสมและค่าตอบแทนนั้นไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินเท่านั้นต้องมีค่าตอบแทนอย่างอื่นที่จะยึด เชิดชู ความรู้สึกของพยานที่อยากจะมาเป็นพยาน

1 ความคิดเห็น:

  1. ควรมีสรุปทุกรายวิชาของอาจารย์และมีแนวข้อสอบพร้อมกับบรรจุไฟล์เสียงคำบรรยายทุกรายวิชาประกอบเหมือนอย่างป.โทนิติอุทัยธานี จะเป็นประโยชน์และดีมากๆ

    ตอบลบ