ขออภัย

บทความใน Blog นี้ เป็นบทความที่รวบรวมมาจากสาขาวิทยบริการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจากWebsiteต่างๆ เพื่อสะดวกในการศึกษาค้นคว้า(ต้องขออภัยที่ไม่ได้ขออนุญาตผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ในการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ)คำบรรยายของอาจารย์ทุกท่านอาจจะมีข้อหรือคำผิดพลาด อันเนื่องมาจากการพิมพ์และการตีความของผู้พิมพ์และผู้เรียบเรียงได้ ขอให้ผู้ศึกษาโปรดใช้วิจารณญาณ ขอขอบพระคุณเจ้าของผลงานทุกท่าน พร้อมอาจารย์ทุกท่านที่ได้มอบความรู้และคุณธรรมให้แก่ลูกศิษย์ด้วยความเมตตา



วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วิชา LA 794 กฎหมายลักษณะพยานเปรียบเทียบ1

สรุปคำบรรยาย
วิชา LA 794 กฎหมายลักษณะพยานเปรียบเทียบ
บรรยายโดย รศ.มรกต ศรีจรุญรัตน์
เรียบเรียงโดย ฝ่ายวิชาการ นิติศาสตร์มหาบัณฑิตรามคำแหงนครศรีฯ รุ่นที่ 4
ครั้งที่ 1 วันที่ 5-6 มิถุนายน 2553

พยานหลักฐาน
กฎหมายพยานหลักฐาน คือ กฎหมายที่ควบคุมการนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์หาความจริงในการพิจารณาคดี จัดเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ
ระบบการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ
1. ระบบกล่าวหา ใช้ในระบบกฎหมายคอมมอลลอว์ มีคู่กรณี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายกล่าวหา (โจทก์) อีกฝ่ายคือฝ่ายถูกกล่าวหา (จำเลย) ทั้งสองฝ่ายจะเสนอพยานหลักฐานต่อศาลซึ่งเป็นคนกลางที่จะชี้ขาดข้อเท็จจริง ศาลไม่อาจค้นหาความจริงโดยตนเองได้ ถือกำเนิดในประเทศอังกฤษ แพร่หลายในประเทศเครือจักรภพอังกฤษ ใช้ระบบคณะลูกขุนเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดข้อเท็จจริง
2. ระบบไต่สวน ถือกำเนิดในกลุ่มประเทศระบบซีวิลลอว์ ศาลจะค้นคว้าหาข้อเท็จจริงด้วยตนเอง มีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาชี้ขาดข้อเท็จจริงได้โดยไม่ต้องให้คู่กรณีเสนอพยานหลักฐานมาในคดี ระบบนี้จึงอาจมีฝ่ายกล่าวหาหรือไม่ก็ได้
หลักที่ใช้ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริง
ศาลต้องอาศัยหลักวิชาตรรกศาสตร์ กล่าวคือ หลักความเป็นไปได้ระหว่างเหตุผลกับผลเป็นหลักในการช่วยวินิจฉัย
ปัญหาข้อเท็จจริงได้แก่
1. ปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในคดี กล่าวคือ ปัญหาในการรับฟังว่ามีการครอบครองที่ดินจริงหรือไม่ จำเลยกระทำการอย่างใดบ้าง ล้วนเป็นปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อฟังว่าจำเลยกระทำการอย่างไรแล้วการกระทำของจำเลยนั้นจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ในเรื่องหมิ่นประมาทจำเลยกล่าวถ้อยคำอย่างไรเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจะเป็นหมิ่นประมาทหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมาย (ฎีกา 533/2487)
2. ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของศาล การใช้ดุลพินิจนั้นต้องฟังข้อเท็จจริงก่อน หากไม่ต้องฟังข้อเท็จจริงก่อนก็เป็นปัญหาข้อกฎหมาย เช่น ปัญหาที่ว่าควรเชื่อพยานหลักฐานที่นำสืบกันได้เพียงใดหรือควรเป็นไปได้เพียงใด (ฏีกา 179/2478) ควรให้สืบพยานเพิ่มเติมหรือไม่ ควรไปดูที่พิพาทหรือไม่ ควรสืบพยานหรือไม่เป็นปัญหาการโต้แย้งดุลพินิจของศาล (ฎีกา 772/2497)
ปัญหาข้อกฎหมาย ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับการตีความหรือแปลกฎหมาย ปัญหาเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษา คำคู่ความ นิติกรรมสัญญาและเอกสารโดยไม่ต้องพิจารณาพยานบุคคลประกอบ (ฎีกา 197/2478) ปัญหาข้อกฎหมาย ต้องเป็นกรณีที่เป็นประเด็นในคดี แต่หากเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่เป็นประเด็นศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) “ในคดีที่ศาลอาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้ เมื่อศาลเห็นสมควรจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษา”
ข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย
ข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย คือ บทกฎหมายที่กำหนดว่าเมื่อมีข้อเท็จจริงยุติอย่างไรแล้วเกิดผลในทางกฎหมายเป็นอย่างไร จึงต้องมีข้อเท็จจริงอยู่ 2 ตอน ตอนแรกยุติได้อย่างหนึ่งแล้วเกิดข้อเท็จจริงอีกตอนหนึ่งว่าต้องเป็นผลอย่างนี้อย่างนั้น
ตัวอย่าง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 กล่าวว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
ข้อเท็จจริงส่วนแรกต้องฟังให้ได้ความว่ามีการยึดถือ (หรือครอบครอง) ทรัพย์สินจะเกิดข้อเท็จจริงส่วนที่สองว่า ผู้ที่ยึดถือนั้นยึดถือเพื่อตน
ข้อเท็จจริงในส่วนที่สองเป็นกรณีที่มีบทกฎหมายกำหนดไว้เลยว่าเมื่อข้อเท็จจริงส่วนแรกยุติแล้วผลทางกฎหมายของข้อเท็จจริงที่ยุตินั้นเป็นอย่างนี้อย่างนั้น บทกฎหมายที่กำหนดผลข้อเท็จจริงส่วนแรกก็คือข้อสันนิษฐานของกฎหมาย บทกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ศาลรู้เอง จึงไม่ต้องสืบพยานหลักฐานกันว่ามีบทกฎหมายกำหนดผลไว้อย่างไร
ประเภทของข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย
1. ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด กฎหมายในส่วนสารบัญญัติมักบัญญัติในถ้อยคำทำนองว่า “ให้ถือว่า” “ต้องถือว่า” หากข้อเท็จจริงต้องด้วยข้อสันนิษฐานชนิดนี้แล้ว ต้องรับฟังข้อเท็จจริงไปตามนั้นทันที คู่กรณีอีกฝ่ายหาอาจนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานชนิดนี้ได้ไม่
ตัวอย่างข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 การกระทำผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทยไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดให้ถือว่าการกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร หรือมาตรา 60 ผู้ใดเจตนากระทำต่อบุคลหนึ่งแต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไปให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้าย
2. ข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาด ส่วนใหญ่อยู่ในกฎหมายสารบัญญัติ ซึ่งส่วนมากใช้ถ้อยคำว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า” “ให้สันนิษฐานว่า” “เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า” “เว้นแต่แสดงว่า” ข้อสันนิษฐานชนิดนี้คู่กรณีฝ่ายตรงข้ามสามารถที่จะนำสืบหักล้างได้โดยฝ่ายที่ได้รับประโยชน์ไม่ต้องมีภาระการพิสูจน์ในเรื่องที่ตนได้รับประโยชน์ในเมื่อฟังข้อเท็จจริงต้องด้วยกรณีของข้อสันนิษฐานครบถ้วนแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นข้อสันนิษฐานชนิดใด ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำต้องสืบพยานทั้งสิ้น
ข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ
ในคดีแพ่งเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ แพ่ง มาตรา 87 ห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่ (1) พยานหลักฐานนั้นเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีจะต้องนำสืบ ปกติมักเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นในคดีหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความจะนำสืบนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นในคดี
คดีอาญาเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิอาญา มาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสารหรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ ซึ่งปกติพยานหลักฐานที่แสดงถึงความผิดหรือไม่ผิดของจำเลยก็เป็นพยานหลักฐานที่พิสูจน์ถึงประเด็นข้อพิพาทของโจทก์จำเลย เพราะในคดีอาญาส่วนมากประเด็นข้อพิพาทมักเป็นเรื่องจำเลยกระทำความผิดหรือไม่นั่นเอง
กล่าวโดยสรุปได้ว่าทั้งคดีแพ่งและคดีอาญานั้นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบก็คือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นในคดี
ประเด็นในคดีกฎหมายให้อำนาจศาลวินิจฉัยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิแพ่ง มาตรา 104 และคดีอาญาใน ป.วิอาญา มาตรา 227 ดังนั้นหากเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็นในคดีแล้วย่อมไม่ต้องมีการนำสืบพยานหลักฐาน
ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นในคดีแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. ข้อเท็จจริงในประเด็นโดยตรง คือข้อเท็จจริงที่คู่ความในคดีโต้เถียงกัน อันเป็นเหตุให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้น พิจารณาได้จากตัวคำฟ้องและคำให้การในคดีหรือเกิดขึ้นในชั้นชี้สองสถาน
ข้อเท็จจริงในประเด็นโดยตรงเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ หากเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ในประเด็นโดยตรง (เว้นแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกับประเด็น) หรือเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็นแล้วไม่ต้องมีการสืบพยานหลักฐาน
2. ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกับประเด็น คือ ข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นโดยตรง เป็นข้อเท็จจริงโดยทางอ้อมสามารถนำไปใช้ได้โดยถือว่าเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นอย่างอื่น จำแนกเป็น 8 ประเภท คือ
1. ข้อเท็จจริงที่มีมาก่อนหรือหลังข้อเท็จจริงในประเด็น เช่นในเรื่องของความเป็นเจ้าของ ถกเถียงกันว่าทรัพย์เป็นของใคร อาจนำข้อเท็จจริงที่ว่าก่อนที่จะนำมาฟ้องใครถือทรัพย์หรือครอบครองทรัพย์อยู่มาสืบได้
2. วิถีทางแห่งธุรกิจ เป็นเรื่องแนวทางการปฏิบัติในวงการธุรกิจว่าในวงการธุรกิจมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร
3. ประเพณีในการประกอบธุรกิจเป็นเรื่องประเพณีที่ใช้อยู่ในวงการธุรกิจว่า ธุรกิจแบบไหนมีวิธีการกระทำอย่างไร
4. ข้อเท็จจริงที่แสดงระดับมาตรฐาน เป็นข้อเท็จจริงแสดงว่าคนปกติทำได้อย่างไรในสภาวะเดียวกัน อีกคนทำได้อย่างไร
5. ข้อเท็จจริงที่ว่าสุจริตหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่แสดงถึงการไม่รู้เท่าถึงการณ์เป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ประเด็นดังกล่าวได้ เช่นในคดีอาญาฐานรับของโจร หากจำเลยซื้อของโดยเปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องซื้อโดยเปิดเผยอาจนำสืบให้เห็นถึงเรื่องไม่รู้ว่าเป็นของคนร้ายได้
6. นิสัย (HABIT) คือการปฏิบัติของผู้ใดผู้หนึ่งเป็นประจำ
7. ข้อเท็จจริงที่คล้ายกัน เป็นการกล่าวอ้างถึงการกระทำครั้งก่อนๆ ว่าเคยกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดคล้ายกับครั้งนี้ เชื่อว่าครั้งนี้ต้องทำเหมือนกัน
8. อุปนิสัย (HARRACTOR) คือชื่อเสียงหรือความประพฤติของบุคคล (ต่างกับนิสัยซึ่งเป็นเรื่องของการกระทำอย่างสม่ำเสมอ)
ชื่อเสียงและความประพฤติของจำเลย แบ่งออกเป็น
คดีอาญา
ก. ชื่อเสียงความประพฤติดี ไม่เป็นประเด็นในคดีแต่เกี่ยวพันไปถึงประเด็นในคดี จำเลยย่อมสามารถนำสืบได้เสมอ
ข. ชื่อเสียงความประพฤติชั่ว หากจำเลยยกเอาชื่อเสียงความประพฤติขึ้นสู่ศาลโจทก์นำสืบชื่อเสียงความประพฤติชั่วได้
คดีแพ่ง ชื่อเสียงความประพฤติจำเลยหากเป็นประเด็นในคดีอาจนำสืบได้
ชื่อเสียงความประพฤติพยาน โดยหลักการแล้วกฎหมายต้องการให้พยานมาเบิกความตามข้อเท็จจริงที่ตนได้รู้ได้เห็นมาโดยตรงบริสุทธิ์ใจเพื่อให้ได้ความจริง หากความประพฤติทั่วๆ ไปของพยานน่าจะแสดงได้ว่าพยานนั้นไม่ได้เบิกความไปด้วยวาจาสัตย์ กฎหมายเปิดโอกาสให้ใช้วิธีการบางอย่างเพื่อหาความจริงจากการเบิกความของพยานได้ ดังนั้นชื่อเสียงและความประพฤติของพยานจึงนำมาสืบได้เสมอ
กรณีพยานฝ่ายที่อ้างเบิกความเป็นปรปักษ์กับฝ่ายนั้น ฝ่ายที่อ้างย่อมขออนุญาตจากศาลเพื่อซักถามพยานนั้นเสมือนว่าเป็นพยานของฝ่ายตรงกันข้าม (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 วรรคหก)
กรณีพยานของฝ่ายตรงข้ามเบิกความ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขอพิสูจน์พยานเพื่อหาความจริงได้ การพิสูจน์พยานนี้แบ่งได้เป็นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 89 และมาตรา 120
ชื่อเสียงความประพฤติของบุคคลนอกคดี
จะสืบได้เมื่อมีประเด็นพาดพิงไปถึงไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาหรือคดีแพ่งก็ตาม
พยานบอกเล่า
โดยหลักกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า แต่มีข้อยกเว้นที่สามารถรับฟังได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95/1 พยานบอกเล่าจึงเป็นพยานที่ต้องนำมาสืบแต่น้ำหนักในการรับฟังอาจมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโดยตรง แต่มีข้อยกเว้นให้รับฟังพยานบอกเล่าได้คือ
1. ตามสภาพลักษณะแหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ
2. มีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็นได้ยินหรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้และมีเหตุสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น
ในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่ควรรับไว้ซึ่งพยานบอกเล่าใดให้นำความในมาตรา 95 วรรคสองนำมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ม.95/1 พยานบอกเล่า

พยานใดมาเบิกความ
บันทึกไว้ในเอกสาร/วัตถุอื่นๆ

นำมายื่นต่อศาลให้ถือว่าเป็นพยานบอกเล่า

หลัก ห้ามมิให้ศาลรับฟัง
ข้อยกเว้น
1.ตามสภาพ 2.ลักษณะ
3.แหล่งที่มา 4.ข้อเท็จจริงแวดล้อม
1. น่าเชื่อว่าพิสูจน์ความจริงได้
ไม่สามารถนำผู้ที่ได้รู้เห็นด้วยตนเอง(ประจักษ์พยาน)
และ มีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
2. มีเหตุผลที่จะรับฟังพยานบอกเล่าได้
3. ถ้ามีคนคัดค้านใช้หลักตาม ม.95(2)

ในเรื่องของพยานบอกเล่าขอให้สังเกตว่า ผู้บอกเล่าซึ่งเห็นเหตุการณ์โดยตรงไม่ใช่พยานบอกเล่า เป็นพยานโดยตรงแต่ผู้รับคำบอกเล่าหรือผู้รับคำบอกเล่าต่อๆ มาภายหลังเป็นพยานบอกเล่า
หลักกฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังพยานบอกเล่า หลักการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งนั้นต้องฟังพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95(2) ในคดีอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 เหตุที่ศาลรับฟังพยานโดยตรงเท่านั้นเพราะ
1. ผู้ที่บอกเล่าไม่ต้องรับผิดฐานเบิกความเท็จ หากเรื่องที่ตนมาเบิกความนั้นเป็นความเท็จ
2. ข้อเท็จจริงไม่ค่อยแน่นอน อาจมีการเติมหรือเปลี่ยนแปลงได้เพราะมีการบอกเล่ามาเป็นทอดๆ
3. พยานที่เบิกความไม่รู้เห็นเหตุการณ์เอง
4. พยานบอกเล่ามิใช่เป็นพยานที่ดีที่สุด เป็นเพียงพยานชั้นสองหรือพยานระดับรองลงมา
5. ผู้ที่บอกเล่าไม่ต้องสาบานตัว ไม่อยู่ในฐานะจะถูกซักค้าน
6. อย่างไรก็ดีในคดีแพ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95(2) วรรคท้าย กฎหมายเปิดช่องว่างไว้ว่า สามารถรับฟังพยานที่มิใช่พยานโดยตรงได้หากว่าไม่มีกฎหมายห้ามโดยชัดแจ้งว่าจะต้องฟังพยานโดยตรงหรือหากว่าศาลมีคำสั่งว่าสามารถรับฟังพยานที่มิใช่พยานโดยตรง (พยานบอกเล่า) ได้ ดังคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้
ฎีกา 2456/2526 ตาม ป.วิ. แพ่ง มาตรา 95 มิได้บัญญัติห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียเลยทีเดียว เมื่อพยานบอกเล่านั้นกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้
ในคดีอาญา ศาลนำ ป.วิ. แพ่ง มาตรา 95 (2) วรรคท้ายรับฟังพยานบอกเล่าได้โดยอาศัย ป.วิ. อาญา มาตรา 15
ฎีกาที่ 992/2527 ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 มิได้ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียทีเดียว คำให้การชั้นสอบสวนของพยานที่กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผลยิ่งกว่าคำให้การในชั้นศาล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้
ประเภทของพยานบอกเล่าที่รับฟังได้ แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. คำรับของคู่ความ
2. คำรับของผู้มีส่วนได้เสียเสมือนคู่ความ
3. คำกล่าวของบุคคลอื่นต่อหน้าคู่ความ
4. คำรับของผู้ต้องหาในคดีอาญา
คำกล่าวของผู้ตาย แบ่งได้ 6 ประเภท
1. คำกล่าวที่เป็นปรปักษ์ต่อผลประโยชน์ของผู้ตาย
2. คำกล่าวของผู้ตายในหน้าที่การงาน
3. คำกล่าวของผู้ตายในเรื่องสิทธิสาธารณะ หรือสิทธิมหาชน
4. คำกล่าวของผู้ตายในเรื่องเครือญาติ วงศ์สกุล
5. คำกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตาย
6. คำกล่าวของเจ้ามรดกในเรื่องพินัยกรรม
ข้อความในเอกสารมหาชนหรือเอกสารเอกชนที่มีคำรับรองว่าถูกต้อง กิตติศัพท์และความเห็น คำพิพากษาและคำพยานในคดีเรื่องก่อน
คำรับของผู้ต้องหาในคดีอาญา แบ่งพิจารณาออกเป็น
1. ถ้อยคำของบุคคลอื่นนอกจากผู้ต้องหา
2. คำรับของผู้ต้องหาในคดีอาญา
ถ้อยคำของบุคคลอื่นนอกจากผู้ต้องหาแบ่งแยกแนวพิจารณาได้ดังนี้
ก. คำให้การของพยานชั้นสอบสวน พยานแม้รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงก็ยังต้องพิจารณาอีกว่าได้ไปเบิกความที่ศาลหรือไม่ หากไปเบิกความก็เป็นพยานโดยตรง แต่หากไม่ไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลเพียงแต่ให้การในชั้นสอบสวนคำให้การดังกล่าวก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า ศาลฎีกาวางแนวว่าไม่มีกฎหมายใดห้ามมิให้ฟังคำให้การในชั้นสอบสวนจึงสามารถรับฟังประกอบในฐานะพยานบอกเล่าได้
ฎีกาที่ 3620/2524 ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนประกอบการพิจารณา ส่วนจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดก็สุดแล้วแต่เหตุผลของแต่ละเรื่อง
ที่ศาลวางแนวนี้ได้เพราะหลักใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 (2) ตอนท้ายที่เปิดช่องให้รับฟังพยานบอกเล่าได้
ฎีกาที่ 771/2536 คำให้การในชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ไม่สามารถนำมาเบิกความในชั้นพิจารณา เป็นเพียงพยานบอกเล่ามิได้ทำต่อหน้าศาลและต่อหน้าจำเลย เป็นคำให้การที่พยานมิได้สาบานตนตามลัทธิศาสนาต่อหน้าศาล มิได้ผ่านการถามค้านเพื่อกระจายข้อเท็จจริงสำหรับค้นคว้าหาความจริงโดยละเอียดตามกระบวนการจึงน้ำหนักน้อยในการที่ศาลรับฟัง
พยานของโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นพยานของพนักงานสอบสวนมาก่อน (ไม่ต้องถูกสอบสวนมาก่อน) เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ พยานที่พนักงานสอบสวนมิได้สอบสวนมาก่อนอัยการโจทก์ก็มีสิทธินำสืบได้
ฎีกาที่ 4012/2534 โจทก์อ้าง ต. จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2699/2529 ของศาลชั้นต้นมาเป็นพยานในคดีนี้ โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวน ต. ไว้เป็นพยานแม้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 232 ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานแต่ ต. ก็มิได้เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยนี้ กรณีจึงมิใช่โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานและแม้พนักงานสอบสวนจะมิได้สอบสวน ต. ไว้ในฐานะพยานก็ตามแต่พนักงานได้สอบพยานหลักฐานต่างๆ ในคดีนี้มาแล้วจึงถือว่ามีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วและพยานโจทก์ที่เบิกความในศาลก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพยานในชั้นสอบสวน ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของ ต. ลงโทษจำเลยได้
ข. ถ้อยคำที่ปรักปรำตนเองให้เสียหาย เป็นเรื่องที่ผู้ถูกจับรับต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับโดยมีข้อเท็จจริงว่าตนเป็นผู้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงเช่นนี้เป็นพยานบอกเล่า เป็นถ้อยคำที่ปรักปรำตนเองให้เสียหายถือหลักว่าทุกคนต้องรับเอาประโยชน์ของตนหากกล่าวทำให้เสียหาย เสียประโยชน์ น่าเชื่อว่ามีมูลที่พอรับฟังได้
ค. คำให้การซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิด ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง เพียงแต่มีน้ำหนักน้อย
ฎีกาที่ 1659/2504 คำให้การของผู้ต้องหาว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยแต่ถูกกันไว้เป็นพยานมีน้ำหนักน้อยยากแก่การรับฟังเป็นพยานหลักฐานยืนยันการกระทำผิดของจำเลยเพราะพยานอาจซัดทอดจำเลยและปกปิดการกระทำของตนเสีย เป็นการทดแทนที่ตนมิต้องถูกฟ้องด้วย
ฎีกาที่ 203/2531 ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานโจทก์ที่เคยตกเป็นผู้ต้องหาด้วยกันเว้นแต่มีน้ำหนักให้รับฟังมากน้อยเพียงใดเท่านั้น หากศาลเห็นว่าพยานเช่นว่านั้นเบิกความประกอบชอบด้วยเหตุผล ฟังได้ว่าเบิกความตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นศาลมีอำนาจรับฟังพยานดังกล่าวประกอบคดีของโจทก์ได้
ฎีกาที่ 3154/2523 แม้นจะปรากฏว่า ส. เคยถูกฟ้องว่าร่วมกระทำความผิดคดีเดียวกันนี้กับจำเลยมาก่อน คำเบิกความและคำให้การของ ส. จึงถือได้ว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันก็ตาม แต่คำซัดทอดดังกล่าวก็มิได้เป็นเรื่องการปิดความผิดของผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่ตนได้ประสบมาจากการกระทำผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลย คำเบิกความและคำให้การของ ส. จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานที่จะรับฟังไม่ได้เสียเลยเพียงแต่มีน้ำหนักน้อยและจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังเท่านั้น
คำรับผู้ต้องหาชั้นสอบสวน เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 134 มีหลักในการพิจารณาคำรับชั้นสอบสวน 4 ประการ
ก. รับขณะตกเป็นผู้ต้องหา หากขณะรับสารภาพตกอยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดหรืออยู่ในฐานะเป็นพยานของพนักงานสอบสวนเนื่องจากถูกพนักงานสอบสวนกันไว้เป็นพยานหรืออยู่ในฐานะเป็นจำเลยก็ดี มิใช่คำรับของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน หากเป็นคำรับของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน คำรับดังกล่าวสามารถใช้ยันผู้ต้องหาในชั้นพิจารณาได้
ฎีกาที่ 1106/2506 ในคดีอาญานั้นพยานหลักฐานที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ต้องเป็นพยานหลักฐานโจทก์และเมื่อจะเอาจำเลยเป็นผู้ต้องหาก็ต้องสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134 การที่พนักงานสอบสวนสอบจำเลยที่เป็นพยานในชั้นแรกจึงเป็นพยานที่มิชอบจะนำคำให้การของจำเลยที่ให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนมาอ้างพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226
คำให้การของจำเลยในฐานะพยานไม่ใช่ฐานะผู้ต้องหา เป็นพยานมิชอบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 จึงจะนำไปรับฟังประกอบพยานอื่นไม่ได้ ต่างกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาแม้จะมีน้ำหนักน้อยก็รับฟังประกอบพยานอื่นได้
ข. รับในความผิดที่ถูกกล่าวหา ก่อนสอบสวนเจ้าพนักงานต้องแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบว่าถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานใดและแจ้งให้ทราบว่าคำให้การจะยันเขาในชั้นพิจารณา คำรับของผู้ต้องหาก็รับฟังแต่ใช้ยันได้เฉพาะตัวผู้ต้องหาเป็นคนๆ ไป ไม่ผูกพันผู้ต้องหาคนอื่นที่มิได้ไปรับสารภาพด้วย
ค. รับต่อพนักงานสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย หมายถึงเจ้าพนักงานที่ผู้ต้องหารับสารภาพนั้นเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจทำการสอบสวนคดีแต่ไม่จำต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการสอบสวน กล่าวคือไม่ต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้ทำหน้าที่สรุปสำนวนการสอบสวน โดยหลักในการพิจารณาว่าใครเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจทำการสอบสวนเป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18-20
อย่างไรก็ตามแม้ผู้ต้องหาจะรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจซึ่งไม่อาจรับฟังเป็นคำรับในชั้นสอบสวนได้แต่ก็รับฟังเป็นคำกล่าวที่ทำให้ตนเองเสียประโยชน์ได้
กล่าวโดยสรุป คำรับของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนสามารถนำสืบในฐานะพยานบอกเล่าโดยต้องสืบพยานอื่นประกอบด้วย เพียงคำรับของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนอย่างเดียวศาลไม่อาจรับฟังเพื่อชี้ขาดข้อเท็จจริงได้
พยานที่นำมาสืบประกอบคำรับของผู้ต้องหา
ก. ต้องมิใช่ถ้อยคำของพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวนผู้ต้องหาที่รับสารภาพ
ฎีกาที่ 1662/2514 การรับฟังคำรับชั้นสอบสวนซึ่งจำเลยปฏิเสธชั้นศาลมาใช้ลงโทษจำเลยโจทก์ต้องมีพยานประกอบว่าจำเลยกระทำผิดจริง โดยพยานประกอบนั้นต้องไม่ใช่คำตำรวจผู้สอบสวนคำรับนั้นเอง
ข. ต้องมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน
ฎีกาที่ 2558/2533 ภาพถ่ายและบันทึกการนำตัวผู้ต้องหาชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเป็นส่วนหนึ่งของคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเท่านั้นมิใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเพื่อให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
คำกล่าวผู้ตาย เมื่อพยานโดยตรงตายไปแล้วก่อนเบิกความทำให้หาพยานหลักฐานค่อนข้างลำบากจึงจำต้องรับฟังถ้อยคำที่ผู้ตายได้กล่าวไว้ก่อนตายในฐานะเป็นพยานบอกเล่ามี 6 ประเภท คือ
1. คำกล่าวที่เป็นปรปักษ์ต่อผลประโยชน์ของผู้ตาย หลักในการพิจารณามี 3 ประการคือ
ก. ผู้ตายต้องกล่าวทำให้ผู้ตายเสียผลประโยชน์
ข. ผลประโยชน์นั้นต้องเป็นเรื่องทรัพย์สินหรือเงินตรา
ค. คำกล่าวนี้รับฟังได้ในเรื่องที่เสียประโยชน์รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง
2. คำกล่าวในวงหน้าที่การงาน มีหลักพิจารณา 3 ประการคือ
ก. ผู้ตายมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในการงานนั้น
ข. ต้องเป็นหน้าที่โดยเฉพาะ
ค. ผู้ตายต้องบันทึกเรื่องนี้ในเวลาใกล้ชิดกับเหตุการณ์
3. คำกล่าวเรื่องสิทธิสาธารณะหรือสิทธิที่ราษฎรมีอยู่ร่วมกัน มีหลักพิจารณา 2 ประการ คือ
ก. ผู้กล่าวต้องมีความรู้ในเรื่องสิทธินั้นๆ
ข. ผู้กล่าวต้องกล่าวก่อนเกิดข้อพิพาท
4. คำกล่าวเรื่องเครือญาติวงศ์สกุล เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับเครือญาติของตน มีเหลักเกณฑ์ คือ
ก. ผู้ตายต้องอยู่ในสกุลเดียวกัน
ข. กล่าวก่อนเกิดกรณีพิพาท
ค. กล่าวถึงลำดับวงศ์สกุลโดยเฉพาะ
5. คำกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตาย เป็นเรื่องผู้ตายได้กล่าวถ้อยคำเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกประทุษร้ายก่อนตายแล้วต่อมาผู้กล่าวตายเสียก่อนที่จะไปเบิกความต่อศาล จำต้องฟังถ้อยคำที่ผู้ตายได้กล่าวไว้ก่อนตายด้วยเหตุผลดังนี้
ก. หาประจักษ์พยานไม่ได้เนื่องจากมีประจักษ์พยานเพียงปากเดียวคือผู้ถูกประทุษร้าย
ข. เป็นที่ยอมรับกันว่าขณะที่บุคคลใกล้ตายผู้นั้นมักกล่าวถ้อยคำที่เป็นความจริง
เรื่องคำกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายนี้นำไปใช้ได้เฉพาะในคดีอาญาเท่านั้น โดยฟังเป็นพยานบอกเล่า ต้องรับฟังประกอบพยานโดยตรงอีกต่อหนึ่ง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเป็นคำกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายมี 5 ประการ คือ
1. ผู้ถูกทำร้ายได้กล่าวถ้อยคำไว้ก่อนตาย คำว่าทำร้ายไม่จำกัดต้องเกิดจากการกระทำโดยเจตนาเสมอไป อาจเกิดจากการกระทำโดยไม่เจตนาหรือการกระทำโดยประมาทก็ได้ แต่ไม่น่าจะหมายความรวมถึงการที่ผู้ตายตายเพราะถูกกระทำการโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
2. กล่าวในขณะรู้สึกว่าจะตายในไม่ช้าและแน่นอน เป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่สุด หากขณะกล่าวเขาไม่มีความรู้สึกเช่นว่านี้แม้ภายหลังจะถึงแก่ความตายคำกล่าวก็จะขาดหลักเกณฑ์การพิจารณา
ที่ว่ารู้สึกว่าจะตายในไม่ช้า หมายถึง ขณะที่กล่าวผู้กล่าวรู้ว่าตนเองใกล้จะถึงแก่ความตายแล้วหรือความตายได้ใกล้เข้ามาถึงตนแล้ว
ที่ว่ารู้สึกว่าจะตายอย่างแน่นอน อาจพิจารณาจากถ้อยคำที่ผู้ตายพูดในกรณีที่ผู้กล่าวพูดโดยชัดแจ้งหรือจากพฤติการณ์ที่ปรากฏในคำพูดและพิจารณาจากพฤติการณ์ประกอบบาดแผลที่ถูกทำร้าย เช่น
ฎีกาที่ 411/2513 ผู้ตายถูกยิง 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าท้องผู้ตายร้องว่าจำเลยเป็นคนยิง เมื่อพยานวิ่งไปดูผู้ตายยังร้องอีกว่าจำเลยเป็นคนยิง หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที ผู้ตายถึงแก่ความตาย พฤติการณ์แสดงว่าผู้ตายรู้ตัวว่าตนจะต้องตาย ถ้อยคำที่บอกเช่นนี้รับฟังเป็นพยานได้
ในทำนองกลับกันหากผู้ตายกล่าวโดยตนเองคิดว่าจะไม่ตายคำกล่าวดังกล่าวรับฟังเป็นคำบอกกล่าวของผู้ถูกทำร้ายก่อนตายไม่ได้ แต่รับฟังเป็นคำระบุบอกกล่าวในเวลาใกล้ชิดกับเหตุการณ์อันไม่มีโอกาสจะใส่ความได้ทันเป็นพฤติการณ์ประกอบพยานหลักฐานไปสู่ผู้ทำผิดและพยานอื่นในคดี
3. ขณะสืบพยานผู้กล่าวได้ตายไปแล้ว ความตายของผู้กล่าวพิจารณาในขณะสืบพยานเป็นสำคัญ หมายความว่า ผู้กล่าวไม่จำเป็นต้องตายเมื่อกล่าวจบเลยและความตายของผู้กล่าวจะต้องเป็นผลโดยตรงจากการทำร้าย
4. จำเลยในคดีปัจจุบันถูกกล่าวหาว่าเป็นคนร้าย หมายความว่า คำกล่าวจะยันได้เฉพาะว่าใครเป็นผู้ทำร้าย หากไม่ใช่ผู้ทำร้ายแล้วรับฟังไม่ได้
5. ฟังได้เพื่อพิสูจน์พฤติการณ์แห่งการฆ่าในข้อหาฆ่าคนตายและเหตุการณ์ใกล้ชิด พฤติการณ์แห่งการฆ่าในข้อหาฆ่าคนตายรวมถึงฆ่าคนตายโดยเจตนา ประมาท ทำให้คนตาย ความตายจากการปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์หรือวิวาท

หน้าที่นำสืบ
แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. หน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาท (ภาระการพิสูจน์)
2. หน้าที่นำสืบก่อน (หน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อนหรือหลัง) ซึ่งเป็นเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 ประกอบมาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 84/1
หน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาท (ภาระการพิสูจน์) คือหน้าที่ที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับไว้ว่าหากเข้ากรณีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ฝ่ายใดต้องตกเป็นฝ่ายที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบ
ในคดีอาญา ปกติโจทก์มีหน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทเว้นแต่บางกรณีบางอย่างตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 174
ในคดีแพ่ง ใครกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดฝ่ายนั้นต้องนำสืบหรือใครได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายแล้วฝ่ายตรงข้ามมีหน้าที่นำสืบ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1
หน้าที่นำสืบก่อน (นำพยานหลักฐานเข้าสืบก่อน) คือ หน้าที่คู่ความฝ่ายใดต้องนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบก่อนหรือหลังคู่ความอีกฝ่ายเป็นเรื่องความสะดวกในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นหน้าที่นำสืบในแง่ของการจัดลำดับในการสืบพยานหลักฐาน
หน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาท (ภาระการพิสูจน์) มีความสำคัญมากเพราะเป็นเรื่องของการแพ้ชนะกันในคดีทีเดียว ดังนั้นหากคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าไม่ต้องสืบพยานกันในเรื่องใดเลย ใครเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทต้องตกเป็นฝ่ายที่แพ้คดีไป
ประเด็นข้อพิพาท
ประเด็นข้อพิพาทมีทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องนำสืบก็เป็นเรื่องที่ไม่ยุติหรือคู่ความไม่สามารถรับกันได้ต้องสืบพยานหลักกันต่อไป
ใครกล่าวอ้างข้อเท็จจริงผู้นั้นต้องนำสืบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง” ดังนั้นโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำให้การดังนั้นผู้มีหน้าที่นำสืบในกรณีนี้จึงอาจเป็นโจทก์หรือจำเลยก็ได้ทั้งสิ้น
ข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งรับแล้วไม่ต้องสืบพยาน
เป็นไปตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น
กรณีที่ถือว่าเป็นการรับ (คดีแพ่ง)
1. ไม่ให้การถึง เท่ากับรับ เท่ากับนิ่ง ตัวอย่าง โจทก์ฟ้องว่าหญิงไม่ใช่ภริยาเพราะไม่ได้จดทะเบียน จำเลยให้การเพียงว่าทรัพย์สินบางอย่างเป็นสินสมรส เท่ากับยอมรับว่าหญิงชายมิได้เป็นคู่สมรสโดยชอบ เพราะไม่ให้การถึง
2. นอกจากจำเลยจะให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งให้ถือว่าจำเลยปฏิเสธ เท่ากับ จำเลยได้รับเพราะไม่ได้แสดงเหตุผล
3. ให้การไม่ชัดเจน เท่ากับ รับ
4. ให้การปฏิเสธลอย เท่ากับ รับ
5. ให้การเคลือบคลุม เท่ากับ รับ
6. คำท้า
กรณีตามมาตรา 123, 124
หลักการรับฟังพยานหลักฐาน
มาตรา 85 บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายใดมีหน้าที่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงย่อมมีสิทธิจะนำพยานหลักฐานใดๆ มาสืบได้ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐาน ดังนั้นการที่จะนำพยานหลักฐานเพื่อเข้าสืบข้อเท็จจริงต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ และ
2. มีการยื่นพยานหลักฐานถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิธีการรับฟังพยานหลักฐานคือ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 86, 87 การยื่นพยานหลักฐานคือ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 88 และมาตรา 90 ส่วนในคดีอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 และ มาตรา 227
มาตรา 86 การรับพยานหลักฐาน
มาตรา 86 วรรคหนึ่ง ให้ศาลปฏิเสธพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้หรือพยานหลักฐานที่รับฟังได้แต่ยื่นฝ่าฝืนมาตรา 88, 90
มาตรา 86 วรรคสอง ให้ศาลงดการสืบพยานเมื่อเห็นว่าฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้า
มาตรา 86 วรรคสาม ให้อำนาจศาลสืบพยานเพิ่มเติมเมื่อเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เป็นการให้อำนาจศาลใช้วิธีการไต่สวนเข้ามาในคดี

มาตรา 86 การรับฟังพยานหลักฐาน


ม.86 ว.1 ให้ศาลปฏิเสธ

พยานที่รับฟังไม่ได้
พยานที่รับฟังได้แต่ยื่นฝ่าฝืน ม.88,90

ม.86 ว.2 ให้ศาลงดการสืบ
ม.86 ว.3 ศาลให้สืบเพิ่มเติม ฟุ่มเฟือยเกินสมควร
ประวิงให้ชักช้า
กรณีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่เกี่ยวแก่ประเด็น
อนุญาตหนำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่ม

พยานหลักฐานที่รับฟังได้
มาตรา 87 เป็นพยานที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบ (ดูมาตรา 84, 84/1 และมาตรา 177 วรรคสอง)
คู่ความฝ่ายนั้นต้องมีการอ้างอิงไว้ในมาตรา 88 และมาตรา 90
อย่างไรก็ตามหากศาลเห็นว่าแม้คู่ความฝ่ายนั้นไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานสำคัญในคดีได้ กล่าวโดยสรุปพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ต้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีจะต้องนำสืบ หมายถึง ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีหรือประเด็นข้อพิพาท พยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบจะต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงตามข้ออ้างและข้อเถียงในคำฟ้องหรือคำให้การด้วย มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นเรื่องนอกฟ้อง นอกคำให้การ และนอกเหนือประเด็น
การยื่นบัญชีระบุพยานตามมาตรา 88
การยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก ต้องยื่นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน พร้อมสำเนาให้คู่ความฝ่ายอื่นรับไปจากศาลตาม ปพพ. มาตรา 88 วรรคแรก
การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ต้องยื่นต่อศาลใน 15 วันนับแต่วันสืบพยาน โดยทำเป็นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสำเนาบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมให้เพียงพอกับคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 88 วรรคสอง
การขออนุญาตระบุพยานเพิ่มเติมตาม ปพพ. มาตรา 88 วรรคสาม ทำได้ต่อเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาการยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกและการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมแล้วโดยต้องแสดงเหตุอันสมควรได้ว่าเหตุใดที่ไม่สามารถดำเนินการได้ก่อนหน้านั้น โดยสามารถขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนพิพากษาคดี
การถามค้านพยาน เป็นไปตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 89 ซึ่งใช้ได้ทั้งการถามค้านพยานบุคคลหรือคัดค้านพยานเอกสาร
มาตรา 89 การห้ามจู่โจมพยานหลักฐาน
1 1. หักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำของพยานว่าเป็นผู้รู้เห็นหรือ
2. พิสูจน์ข้อความเกี่ยวกับถ้อยคำ เอกสารหรือพยานอื่นใดซึ่งพยาน
เช่นนั้นได้กระทำขึ้น
2. คู่ความฝ่ายที่จะขอสืบ
ต้องถามค้านในเวลาที่พยานนั้นเบิกความ
ถ้าไม่ถามค้านไว้ก่อนไม่มีสิทธินำพยานมาสืบ ถ้าหากนำมาสืบ

3. คู่ความอีกฝ่ายคัดค้านศาลปฏิเสธไม่ยอมรับได้
4. ถ้าแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าในเวลาเบิกความ
1. คู่ความฝ่ายนั้นไม่รู้ ศาลยอมรับฟังได้
2. คู่ความฝ่ายนั้นไม่มีเหตุอันควรรู้ และคู่ความอีกฝ่ายก็ยอให้เรียกพยานสืบได้
3. ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือ ศาลเรียกเองได้


คู่ความนำพยานมาสืบ คู่ความอีกฝ่าย

ถ้าจะนำพยานหลักฐานมาหักล้าง

ต้องถามค้านไว้ก่อน

ถ้าไม่ถามค้านไว้คู่ความอีกฝ่ายที่สืบคัดค้าน = ศาลปฏิเสธไม่ยอมรับได้

การส่งสำเนาเอกสารตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 พิจารณาควบคู่กับ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 88
มาตรา 90 วรรคแรก ให้ส่งสำเนาต่อศาลและให้คู่ความอีกฝ่ายก่อนสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน
มาตรา 90 วรรคสอง กรณีการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและการขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมให้สำเนาเอกสารต่อศาลและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งพร้อมกับการยื่นคำแถลงหรือคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าว เว้นแต่ศาลอนุญาตให้ยื่นในภายหลัง
ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องสำเนาเอกสาร
(1) คู่ความอ้างเอกสารเป็นชุดซึ่งคู่ความฝ่ายอื่นทราบดีอยู่แล้วหรือตรวจตราได้โดยง่าย
(2) เอกสารที่อยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือบุคคลภายนอกไม่ว่าจะเป็นฉบับเดียวหรือหลายฉบับ
(3) หากการคัดสำเนาเอกสารทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้า หรือมีเหตุผลว่าไม่อาจคัดสำเนาเอกสารได้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด กรณีตาม (1) และ(3) ให้ผู้อ้างเอกสารยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องขออนุญาตงดการยื่นสำเนาเอกสารและขอยื่นต้นฉบับแทน กรณีตาม (2) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครองตามมาตรา 123








มาตรา 90 การรับฟังพยานเอกสาร
หลัก
1.ยื่นสำเนา
2.ส่งสำเนาให้คู่ความฝ่ายอื่น
3.ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน
ข้อยกเว้น ไม่ต้องยื่นสำเนาต่อศาล
ไม่ต้องส่งสำเนาให้คู่ความฝ่ายอื่น
ใช้ต้นฉบับแทน 1. คู่ความอ้างอิงเอกสารเป็นชุดซึ่งคู่ความอีกฝ่ายตรวจดู
เอกสารได้อยู่แล้ว
ใช้หลัก ป.วิ.แพ่ง ม.123,124 2. เอกสารนั้นอยู่ในความครอบครองคู่ความฝ่ายอื่นหรือ
ของบุคคลภายนอก
ใช้ต้นฉบับแทน 3. การคัดสำเนาและทำให้ล่าช้าหรือไม่เสร็จภายใน
กำหนดเวลาที่จะต้องยื่น

ข้อสังเกต การพิสูจน์ต่อพยานตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 120 ไม่จำต้องระบุพยานตามมาตรา 88 และไม่ต้องส่งสำเนาตามมาตรา 90 ดังฎีกาที่ 798-799/2549 คดีพิพาทกันเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์อ้างว่าซื้อมา จำเลยต่อสู้ว่าให้ที่ดินทำกินต่างดอกเบี้ยเงินกู้ ในขณะที่โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานและจำเลยเป็นฝ่ายถามค้านโจทก์ให้การปฏิเสธการกู้เงิน จำเลยย่อมอ้างเอกสารการกู้เงินมายันโจทก์ได้โดยไม่ต้องระบุพยานและส่งเอกสารล่วงหน้า เมื่อโจทก์รับรองเอกสารนั้นจำเลยก็ย่อมส่งอ้างเป็นพยานประกอบคำโจทก์ได้
กรณีเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศซึ่งศาลสั่งให้ผู้อ้างทำคำแปลเป็นภาษาไทยตามมาตรา 46 คำแปลดังกล่าวนี้ไม่ต้องส่งสำเนาให้อีกฝ่ายล่วงหน้า
เอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลในครอบครัวเดียวกันกับคู่ความที่อ้างเอกสารก็ถือว่าเป็นเอกสารของบุคคลภายนอก ไม่ต้องส่งสำเนา
กรณีอ้างโฉนดที่ดินทั้งฉบับของเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่กับผู้อ้างและฉบับสำนักงานที่ดินถือว่าเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกไม่ต้องสำเนาตามมาตรา 90 ดังฎีกาที่ 1056-1057/2502 โจทก์อ้างโฉนดที่ดินซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์เป็นพยานและโจทก์ยังอ้างโฉนดฉบับเดียวกันจากสำนักงานที่ดินอีก เจ้าพนักงานที่ดินได้คัดสำเนาส่งศาลดังนี้ถือว่าเป็นเอกสารซึ่งอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกจึงไม่จำต้องส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90(2) ก็รับฟังเป็นพยานเอกสารได้
ฎีกาที่ 1946/2535 โจทก์มอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีแทนโดยแนบภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจมาท้ายฟ้องแต่กลับนำสืบว่าภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องมิใช่ภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ เป็นภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอื่น ส่วนภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้โจทก์ได้แนบไปท้ายฟ้องคดีอื่นสลับกัน โดยโจทก์นำสืบต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับประกอบคำเบิกความของ อ. ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีนี้จริง เช่นนี้ ภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องและต้นฉบับย่อมมิใช่หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ ส่วนต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ก็มิได้มีการส่งสำเนาล่วงหน้าตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 90 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีพยานเอกสารมาแสดงให้เห็นถึงการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ทั้งคำเบิกความของ อ. ก็เป็นพยานบุคคลจะรับฟังแทนเอกสารมิได้ ต้องห้ามตาม มาตรา 94 (ก) ประกอบมาตรา 60 วรรคสอง จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์
การอ้างพยานหลักฐาน
คดีแพ่งตามมาตรา 91 คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างอิงพยานหลักฐานร่วมกันได้
คดีอาญา มาตรา 232 ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน แต่ไม่ห้ามที่จะอ้างพยานหลักฐานร่วมกัน
พยานเอกสารรับฟังได้แต่ต้นฉบับเท่านั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93
ข้อยกเว้นที่ให้อ้างสำเนาเอกสารหรือสืบพยานบุคคลแทนเอกสารได้
(1) คู่ความตกลงกันว่าสำเนาเอกสารถูกต้อง
(2) ไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้โดยไม่ใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบหรือศาลเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็สามารถนำสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารได้
(3) ต้นฉบับเอกสารที่อยู่ในความอารักขาหรือในความควบคุมของทางราชการ การนำมาแสดงต้องได้รับอนุญาตก่อน สำเนาเอกสารซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่รับรองถูกต้องก็ใช้ได้
(4) คู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานยันตนมิได้คัดค้านการนำสำเนาเอกสารมาสืบตามมาตรา 125
คดีอาญา หน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทหรือภาระการพิสูจน์ในคดีอาญา
คดีอาญาเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลย โจทก์ต้องบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิดตลอดจนบุคคลสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี (ป.วิ.อาญา มาตรา 158(5)) มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิด (ป.วิ.อาญา มาตรา 158(6)) ประเด็นในคดีอาญาจึงอยู่ที่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่
การนำสืบในคดีอาญา
ในคดีอาญาเป็นการกล่าวโทษเพื่อให้ศาลลงโทษผู้กระทำความผิด โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดมีอยู่ใน ปอ.มาตรา 18 หน้าที่นำสืบในคดีอาญาเป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 174
หลักสากลในคดีอาญาทุกคนได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด การพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตาม (ประเด็น) ที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เป็นการนำสืบว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด เป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่นั่นเอง ดังนั้นจึงวางหลักไว้ว่าปกติในคดีอาญาหน้าที่นำสืบตามประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา
การปฏิเสธของจำเลยไม่ต้องระบุเหตุแห่งการปฏิเสธ กล่าวคือ จำเลยไม่ได้ให้การถึงในเรื่องของการกระทำความผิดในเรื่องที่ปฏิเสธเท่ากับเป็นการปฏิเสธเช่นเดียวกัน แต่หากเรื่องใดที่จำเลยไม่ให้การถึงเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดถือว่าเป็นเรื่องจำเลยรับในข้อเท็จจริงนั้นๆ
ฎีกาที่ 287/2503 คดีอาญาส่วนตัวโจทก์บรรยายฟ้องว่าร้องทุกข์แล้วจำเลยไม่ต้องต่อสู้ว่าได้ร้องทุกข์ให้เป็นประเด็น ไม่ต้องนำสืบในข้อนี้
ข้อยกเว้นหน้าที่นำสืบในคดีอาญา กล่าวคือ ให้หน้าที่นำสืบเป็นของจำเลยในประเด็นดังต่อไปนี้
1. จำเลยรับว่าได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องแต่อ้างเหตุไม่ต้องรับโทษ เหตุลดหย่อนผ่อนโทษ เหตุบรรเทาโทษ ต้องเป็นเรื่องที่จำเลยรับว่าได้กระทำความผิดโดยชัดแจ้ง หากเป็นการรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวหาจริงแต่การกระทำไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุตาม ปอ.มาตรา 68 จำเลยรับว่าเป็นแพทย์ทำแท้งไปเนื่องจากสภาพของหญิงหรือหญิงถูกข่มขืนตาม ปอ.มาตรา 305 จำเลยรับว่าได้กระทำข้อความในลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทแต่ตนกล่าวไปโดยแสดงความเห็น แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียของตนตามครองธรรมหรือตนเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ปอ.มาตรา 329 จำเลยรับว่าตนกล่าวข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทจริงแต่ตนเป็นคู่ความหรือทนายความแสดงความเห็นในกระบวนพิจารณาในศาลเพื่อประโยชน์ของตนตาม ปอ.มาตรา 331 กรณีดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นการที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดเนื่องจากข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวนั้นล้วนเป็นการกระทำที่จำเลยสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีความผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ตามหลักปกติ
เหตุไม่ต้องรับโทษ ดูจากกฎหมายในส่วนสารบัญญัติว่าเหตุใดบ้างที่กฎหมายบัญญัติว่าหากจำเลยกระทำความผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ เช่น
ก. เหตุกระทำผิดด้วยความจำเป็น ตาม ปอ. มาตรา 67 ซึ่งทำไปพอสมควรแก่เหตุ
ข. เหตุกระทำผิดเนื่องจากวิกลจริต ไม่รู้รับผิดชอบตาม ปอ. มาตรา 65 ซึ่งกระทำไปขณะไม่รู้รับผิดชอบเพราะเป็นโรคจิต
ค. เหตุกระทำผิดเนื่องจากมึนเมาเพราะถูกบังคับให้เสพหรือขืนใจให้เสพสุราหรือของมึนเมา โดยขณะทำผิดไม่รู้สติเลยตาม ปอ. มาตรา 66
ง. เหตุกระทำผิดเนื่องจากปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งในหน้าที่ตาม ปอ.มาตรา 70
จ. เหตุกระทำผิดเนื่องจากเป็นสามีภรรยากัน ซึ่งส่วนมากเป็นความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ตาม ปอ. มาตรา 71 วรรคแรก
ฉ. เหตุกระทำผิดเพราะเป็นเด็กอายุไม่เกินเจ็ดปี ตาม ปอ. มาตรา 73 หรืออายุยังไม่ถึงสิบสามปีตาม ปอ.มาตรา 74
ช. เหตุพิสูจน์ว่าที่หมิ่นประมาทไปนั้นเป็นเรื่องจริงตาม ปอ.มาตรา 330 วรรคแรก
เหตุลดหย่อนผ่อนโทษ กฎหมายใช้คำว่า “ศาลจะลงโทษน้อยกว่าเพียงใดหรือจะลดอัตราส่วนโทษลงได้เป็นเท่าไร”
ก. เหตุบันดาลโทสะเนื่องจากถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตาม ปอ.มาตรา 72
ข. เหตุเป็นบุพการีหรือเป็นผู้สืบสันดานกันตามกฎหมายในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งถือตามความเป็นจริงทางสายโลหิต
เหตุบรรเทาโทษ ได้แก่ เหตุเนื่องจากได้ตกอยู่ในความทุกข์สาหัส มีคุณความดีมาก่อน รู้ความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายตาม ปอ.มาตรา 78 วรรคสอง
2. มีข้อสันนิษฐานตามกฎหมายเป็นโทษแก่จำเลย จำเลยต้องมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ส่วนมากกฎหมายสารบัญญัติจะบัญญัติไว้ในทำนองว่า “เว้นแต่จะแสดงได้ว่า” “ ให้สันนิษฐานว่า” “เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า” เช่น พ.ร.บ.การพนัน บัญญัติว่าบุคคลใดร่วมอยู่ในวงการพนันให้สันนิษฐานว่าร่วมเล่นการพนันเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ร่วมเล่นด้วย

พยานหลักฐานในคดีอาญา
พยานหลักฐานที่ใช้ในคดีอาญานั้นมีหลักเกณฑ์อยู่ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 ถึง 244/1 ส่วนใดที่ ป.วิ.อาญาไม่ได้กล่าวถึงก็นำหลักเกณฑ์ของ ป.วิ.แพ่งมาใช้โดยอนุโลมตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 15
หลักเกณฑ์การสืบพยานหลักฐานในคดีอาญา
เนื่องจากประเด็นในคดีอาญามีเพียงว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ดังนั้นพยานหลักฐานใดไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานวัตถุหรือพยานเอกสารซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ เว้นแต่พยานที่ได้มาเกิดขึ้นโดยมิชอบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 226
วิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานชั้นจับกุมหรือชั้นรับมอบตัวผู้ถูกจับ
ถ้อยคำของผู้ถูกจับกุม รับฟังได้หรือไม่ เป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคท้ายซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 กรณีคือ
1. กรณีถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับ ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานโดยเด็ดขาด
2. ถ้อยคำอื่นของผู้ถูกจับ (ที่มิใช่คำรับสารภาพว่าตนได้กระทำความผิด) ให้รับฟังได้ต่อเมื่อมีการแจ้งสิทธิตามมาตรา 84 วรรคหนึ่งและตามมาตรา 83 วรรคสองแก่ผู้ถูกจับ
พยานหลักฐานที่ห้ามมิให้ศาลรับฟัง
1. พยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็น
2. คำรับสารภาพในชั้นจับกุมหรือชั้นมอบตัวผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 84
3. พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 ซึ่งแบ่งได้เป็น
3.1 เกิดจากการจูงใจให้คำมั่นสัญญาโดยมิชอบ
ฎีกาที่ 473/2539 ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงพฤติกรรม หรือกิริยาท่าทาง หรือวาจาให้เข้าใจว่าถ้าไม่รับสารภาพลูกเมียจะถูกดำเนินคดีด้วย แต่ถ้ารับสารภาพก็จะไม่ดำเนินคดีกับลูกเมียทำให้จำเลยเกิดความกลัว ถือว่าเป็นคำให้การรับสารภาพที่เกิดจากการขู่เข็ญและบังคับโดยไม่ชอบ
ฎีกาที่ 1839/2544 ส. ถูกตำรวจจับกุมในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจาก ส. แล้วตำรวจเสนอว่าหาก ส. ไปล่อซื้อจากผู้จำหน่ายก็จะไม่ดำเนินคดี ส. จึงไปล่อซื้อจากจำเลย ส. มาเบิกความเป็นพยานโจทก์จึงเป็นพยานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจและให้คำมั่นสัญญาโดยมิชอบของตำรวจรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226
3.2 พยานหลักฐานที่เกิดจากการหลอกลวง
3.3 พยานหลักฐานที่เกิดจากการขู่เข็ญ ทรมาน ใช้กำลังบังคับ
พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบประการอื่น หมายถึง การเกิดขึ้นของพยานหลักฐานนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาที่ 4301/2543 ในการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ ส. ล่อซื้อนั้นเป็นการทำซ้ำอันเป็นลักษณะละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ภายหลังวันที่ ส. ไปล่อซื้อแล้วมิใช่เป็นการทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อจึงน่าเชื่อว่าการที่มีผู้กระทำความผิดด้วยการทำซ้ำเกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าพนักงานเป็นผู้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้



มาตรา 226 ภาระการพิสูจน์ในคดีอาญา

พยานเอกสาร
ที่มา พยานบุคคล
พยานวัตถุ
1. ต้องไม่เกิดจากการจูงใจ
2. ต้องไม่ได้เกิดจากการมีคำมั่นสัญญา
3. ต้องไม่ได้เกิดจากการขู่เข็ญ
4. ต้องไม่ได้เกิดจากการหลอกลวง
5. ต้องไม่ได้เกิดจากการอันมิชอบด้วยกฎหมายประการอื่น

หลักการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226 นี้เปรียบได้กับหลักการที่ไม่นำดอกผลของต้นไม้ที่มีพิษมารับประทาน หรือพยานหลักฐานที่มีที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่สามารถนำมาเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดได้
บทตัดพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ
บทตัดพยานดังกล่าวมีอยู่ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 226/1 ซึ่งกำหนดให้เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้แต่วิธีการที่ได้รับพยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังยกเว้นแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี
บทตัดพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่นหรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลย
เป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/2 เหตุที่ห้ามเนื่องจากกระทำความผิดครั้งอื่นๆ หรือความประพฤติเสื่อมเสียของจำเลยไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดของจำเลยหรือเป็นเรื่องพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้องจึงมิให้ศาลรับฟัง เว้นแต่จะเป็นพยานหลักฐานที่มีการโยงใยโดยตรงเกี่ยวกับองค์ประกอบของความผิดที่จำเลยกระทำ
บทตัดพยานหลักฐานเนื่องจากเป็นพยานบอกเล่า
เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3
ลักษณะของพยานบอกเล่าที่ห้ามไม่ให้ศาลรับฟัง คือ
1. เป็นข้อความการบอกเล่าที่พยานนำมาเบิกความต่อศาล
2. เป็นข้อความซึ่งมีการบันทึกไว้ในเอกสาร
3. เป็นข้อความซึ่งมีการบันทึกไว้ในวัตถุอื่นๆ
นอกจากนี้หากศาลไม่รับฟังพยานบอกเล่าและคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องคัดค้านศาลจะต้องจดรายงานถึงพยานที่ถูกคัดค้าน ส่วนเหตุผลที่มีการคัดค้านศาลจะใช้ดุลพินิจจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำแถลงต่อศาลและรวมไว้ในสำนวน
บทตัดพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ
เป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/4 เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับเพศโดยห้ามนำสืบถึงพฤติกรรมของผู้เสียหายกับบุคคลอื่นนอกจากจำเลย
ป.วิ.อาญา มาตรา 226/5 เป็นบทบัญญัติที่ให้นำคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังในชั้นพิจารณาได้โดยหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอื่นที่มีผลกระทบถึงการนำสืบเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยศาลจึงให้รับฟัง
พยานชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
การไต่สวนมูลฟ้อง คือ การที่โจทก์นำพยานเบิกความต่อศาลเพื่อให้ศาลเห็นว่าคดีที่โจทก์ฟ้องนั้นมีมูลเพียงพอที่ศาลจะประทับรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
การไต่สวนมูลฟ้องไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยจึงทำให้แต่เดิมมีปัญหาว่าการจะอ้างคำพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาให้ศาลพิจารณาในชั้นวินิจฉัยคดีทำได้หรือไม่
ฎีกาที่ 1142/2503 คำพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งศาลจดไว้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 เป็นพยานเอกสารอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์หรือชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ส่วนจะรับฟังหรือไม่เพียงไรเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาวินิจฉัยอีกชั้นหนึ่ง โดยสามารถรับฟังคำพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบกับคำพยานอื่นที่ได้เบิกความในชั้นพิจารณาได้
การรับฟังพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีระดับเพียงว่าคดีโจทก์มีมูลที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งแตกต่างกับในชั้นพิจารณาตามที่ ป.วิ.อาญา มาตรา 227 ที่กำหนดให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด
เป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 227 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”
การนำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยนั้นโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้อย่างปราศจากข้อสงสัยศาลจึงจะลงโทษจำเลยได้ เพราะหากมีความสงสัยตามสมควรศาลต้องยกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ฎีกาที่ 154/2538 คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่า พนักงานสอบสวนดำเนินการไปฝ่ายเดียวโดยจำเลยไม่มีโอกาสได้โต้แย้งคัดค้านแม้ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังแต่ก็มีน้ำหนักน้อยโจทก์จะต้องมีพยานอื่นมาสืบประกอบจึงจะมีน้ำหนักเพียงพอลงโทษจำเลยได้
ฎีกาที่ 4825/2539 โจทก์ระบุพยานและขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกรายงานการประชุมของทางราชการและได้มีการจัดส่งมาตามหมายเรียก แม้โจทก์จะมิได้อ้างส่งรายงานดังกล่าวเป็นพยานแต่ศาลฎีการับฟังเอกสารดังกล่าวได้โดยถือว่าเป็นพยานของศาล
พยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อยในคดีอาญา เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อาญา มาตรา 227/1
การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน สำหรับพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักน้อยในคดีอาญานั้นมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. พยานบอกเล่าเป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3
2. พยานซัดทอดของผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน
โดยหลักแล้วกฎหมายห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานเท่านั้น ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเพียงแต่ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังว่าคำซัดทอดนั้นเกิดจากเจตนาเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากคำซัดทอดนั้นหรือไม่ คำให้การซัดทอดเกิดจากวิธีการที่ผิดกฎหมายก็ไม่อาจรับฟังได้ คำซัดทอดที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยย่อมไม่มีน้ำหนัก หากผู้ต้องหาว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยมาเบิกความต่อศาล กรณีดังกล่าวถือว่าไม่ใช่พยานบอกเล่า ศาลสามารถนำคำให้การซัดทอดในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยคนหนึ่งมาลงโทษจำเลยอื่นคดีเดียวกันได้ ถ้าจำเลยอื่นให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนโดยมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบการสนับสนุน
3. พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน
4. พยานที่มีข้อบกพร่องประการอื่น
กรณีดังกล่าวไม่ให้ศาลเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อการลงโทษเว้นแต่
1. มีเหตุผลอันหนักแน่น
2. มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี
3. มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ
อำนาจศาลในการสืบพยานเพิ่มเติม
ป.วิ.อาญา มาตรา 228 บัญญัติว่า ระหว่างพิจารณาโดยพลการหรือคู่ความฝ่ายใดร้องขอ ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติม จะสืบเองหรือส่งประเด็นก็ได้ เป็นการวางหลักเกณฑ์ให้ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงให้ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นระบบการดำเนินคดีแบบไต่สวน
ฎีกาที่ 4545/2531 คดีอาญาศาลสั่งงดสืบพยานโจทก์ที่ไม่มาศาลไปแล้ว ต่อมาระหว่างสืบพยานจำเลยพยานโจทก์มาศาลเนื่องจากเป็นประจักษ์พยานโจทก์เพียงปากเดียวที่รู้เห็นเกี่ยวกับคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบเนื่องจากจำเลยมีโอกาสถามค้านพยานปากนี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้สืบพยานดังกล่าวได้ตาม มาตรา 228
การยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญา
กรณีที่ศาลกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173/1 มีหลักเกณฑ์สำคัญคือ
1. คดีที่จำเลยไม่ให้การ
2. คดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ ขอให้มีการกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานก่อนวันสืบพยานจาก
- คู่ความฝ่ายใดร้องขอ
- ศาลเห็นสมควรโดยเมื่อมีการกำหนดวันตรวจพยานหลักฐาน ก่อนวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน คู่ความต้องยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมทั้งสำเนาในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไป ถ้าต้องการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมต้องยื่นต่อศาลก่อนการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น ถ้าต้องการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้นผู้ร้องต้องแสดงเหตุ 3 กรณี ดังนี้
- ไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้น
- เป็นกรณีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
- เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดี
สำหรับกรณีพยานเอกสารวัตถุใดอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกคู่ความที่ต้องการอ้างขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกจากผู้ครอบครองโดยยื่นคำขอต่อศาลพร้อมการยื่นบัญชีระบุพยาน
การดำเนินการในวันตรวจพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173/2
1. ให้อีกฝ่ายตรวจพยานเว้นแต่มีคำสั่งศาลให้เป็นอย่างอื่น ให้แต่ละฝ่ายแถลงแนวทางการสืบพยาน
2. ให้แต่ละฝ่ายเสนอแนวทางการเสนอพยานหลักฐาน
เป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 229/1 ต้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันไต่สวนมูลฟ้องหรือวันสืบพยานพร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานในจำนวนที่เพียงพอให้กับคู่ความอีกฝ่าย ส่วนฝ่ายจำเลยนั้นให้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานพร้อมสำเนาก่อนวันสืบพยานจำเลย
ผลของการไม่ดำเนินการยื่นบัญชีระบุพยานตามมาตรา 229/1 วรรคหนึ่ง นั้นมีทางแก้ตามมาตรา 229/1 วรรคสาม คู่ความฝ่ายนั้นต้องแสดงเหตุอันจำเป็นและหากศาลเห็นว่าเป็นเหตุอันจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ให้ศาลมีอำนาจอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
ผลของการไม่ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานในคดีเป็นไปตาม มาตรา 229/1 วรรคสี่ คือ ห้ามิให้ศาลอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวแต่หากศาลเห็นว่าเป็นการจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองพยานหรือจะต้องสืบพยานเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม หรือเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ศาลมีอำนาจอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
การเดินเผชิญสืบและการส่งประเด็นในคดีอาญา ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 230 โดยให้กระทำต่อหน้าจำเลยตามมาตรา 172 เว้นแต่จำเลยในกรณีได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องเข้าฟังการพิจารณาตามมาตรา 172 ทวิ
การสืบพยานลักษณะการประชุมทางจอภาพตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 230/1 โดยอนุญาตให้พยานดังกล่าวเบิกความที่ศาลอื่นหรือสถานที่ทำการของทางราชการ หรือสถานที่แห่งอื่นนอกจากศาลนั้นจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ ภายใต้การควบคุมของศาลที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่นั้นโดยให้ถือเสมือนว่าพยานเบิกความในห้องพิจารณาของศาล
บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานในคดีอาญาตาม มาตรา 230/2 ใช้ในกรณีไม่สามารถเบิกความในลักษณะการประชุมทางจอภาพตามมาตรา 230/1 ได้ ศาลอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำเฉพาะซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาลได้
เอกสารหรือข้อความลับของทางราชการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 231 ได้รับการยกเว้นที่จะไม่ต้องถูกนำสืบในชั้นศาล เป็นกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์ที่ให้พยานบางชนิดไม่ต้องนำสืบและเปิดเผยในชั้นศาล แต่ให้อำนาจศาลเรียกเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาแถลงต่อศาลเพื่อให้ได้ข้อความจริงว่าเป็นพยานหลักฐานที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายจริง
การอ้างจำเลยเป็นพยานโจทก์
มาตรา 233 ห้ามไม่ให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานมีเหตุผลเพราะการที่จะบังคับให้จำเลยต้องเบิกความเพื่อปรักปรำตนเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมสำหรับจำเลย นอกจากนี้กฎหมายยังไม่ต้องการให้โจทก์นำสืบพยานหลักฐานที่เป็นการค้นหาความจริงจากจำเลยเพื่อนำมาลงโทษจำเลย
คำเบิกความของจำเลยใช้ยันจำเลยได้
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 233 ซึ่งหากจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ในกรณีที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานศาลจะให้เข้าสืบพยานก่อนพยานอื่นฝ่ายจำเลยก็ได้ หากคำเบิกความของจำเลยนั้นปรักปรำหรือเสียหายแก่จำเลยอื่น จำเลยอื่นซักค้านได้ กรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยันจำเลยได้และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
การรับฟังคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 บันทึกคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณานั้นให้ศาลอ่านให้พยานฟังต่อหน้าจำเลย เว้นแต่ในกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตรา 165 วรรคสาม
ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลจะอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณาโดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ เว้นแต่ในข้อหาความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำไว้ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น
เหตุเนื่องจากการไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เท่านั้น ในชั้นพิจารณาจึงต้องอ่านคำเบิกความให้พยานฟังต่อหน้าจำเลยเพื่อจำเลยจะได้มีโอกาสคัดค้าน ใช้ในกรณีราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง แต่ในกรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องไม่มีปัญหาดังกล่าวเนื่องจากพนักงานอัยการต้องนำตัวจำเลยมาศาล
การสืบพยานล่วงหน้า
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 237 ทวิ เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการสืบพยานไว้ล่วงหน้าให้ครอบคลุมกว้างขวางมากกว่าเดิมและเปิดโอกาสให้มีการสืบพยานไว้ล่วงหน้าทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยโดยมีหลักการสำคัญคือ
1. ก่อนฟ้องคดีต่อศาลมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลซึ่งจะเดินทางไปออกนอกราชอาณาจักร
2. พยานบุคคลไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
3. พยานบุคคลเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี
4. จะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
5. มีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า
ต่อมาผู้ต้องหานั้นถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลในการกระทำความผิดอาญานั้น ก็คือความผิดอาญาที่มีการสืบพยานไว้ก่อนก็ให้ศาลรับฟังคำพยานดังกล่าวในการพิจารณาคดีนั้นได้
จำเลยก็มีสิทธิ์ที่จะขอให้สืบพยานไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกัน

****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น